.
โดย อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com
เขียนถึงรูปหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลานมาแล้ว อดคิดไม่ได้ว่า ยังไม่ได้เขียนถึงรูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ เลยก็จะกระไรอยู่ ติดต่อไปที่แฟนคลับนักสะสมพระเครื่องหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ได้รูปเหมือน พิมพ์บี ในสภาพสวยทีเดียวมาให้ชมกันครับ
หยิบมาส่องสำหรับรูปเหมือนปั๊มองค์นี้ ที่ว่าเป็นพิมพ์บี นั้น ก็มีจุดพิจารณาแยกกันออกไป ตรงที่ความคมชัดของเส้นสายทั้งหลายบนองค์รูปเหมือนปั๊ม หลวงพ่อเดิมนั่นเอง
จุดพิจารณาที่แยกเป็นพิมพ์ เอ บี ซี ดี นั้นเกิดจากบล็อกแม่พิมพ์มีเพียงตัวเดียว ช่างจะแกะรายละเอียดของบล็อกทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพียงชุดเดียว เมื่อผ่านการปั๊มไปบ่อยเข้า แม่พิมพ์เกิดการชำรุดแตก ทำให้การปั๊มในครั้งต่อมาขาดในรายละเอียด ทำให้ความคมชัดน้อยลง
ยกตัวอย่างเช่นความแตกต่างระหว่างพิมพ์เอ และ พิมพ์บี ที่เห็นได้ชัดเจนคือบริเวณซอกแขนขวาด้านหลังองค์พระเป็นต้น ในพิมพ์เอ จะปรากฏความคมชัด มีซอกลึกเป็นมิติลงไป ส่วนในพิมพ์บีนั้น เริ่มปรากฏเนื้อเกินในซอกแขนด้านหลัง เพราะเกิดจากแม่พิมพ์เริ่มชำรุด เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างพิมพ์เอ และ พิมพ์บี ด้านหน้านั้น
1.ความคมชัดของเส้นสายสังฆาฏิ จีวร บนองค์พระ พิมพ์เอ จะคมชัดมากกว่าเพราะเป็นการปั๊มในช่วงแรก ส่วนพิมพ์บี ความคมชัดจะด้อยลงไป
2.ในพิมพ์บี บริเวณซอกคอจะสังเกตุเห็นรอยตะไบ
3.จะเห็นเส้นขนแมวในซอกแขนขวาสองเส้นต่อกันเป็นตัว V
4.คำว่าหลวงพ่อเดิม “เดิม” พิมพ์บี สระอิเป็นเส้นแตก สำหรับพิมพ์เอจะคมชัด
5.ด้านหน้าคำว่า “หลวงพ่อเดิม”หัวมุมฐานด้านล่างส่วนใหญ่จะมนยุบเล็กน้อย
ส่วนความแตกต่างระหว่างพิมพ์เอ และ พิมพ์บี ด้านหลังนั้น
1.พิมพ์บีนั้น ใบหูหลวงพ่อด้านหลังจะแต่งเป็นเหลี่ยม ส่วนพิมพ์เอ ใบหูหลวงพ่อด้านหลัง จะแต่งคล้ายใบหูคน
2.ตรงศีรษะด้านหลังจะบุบเล็กน้อย
3.ตรงสันคอด้านหลัง เส้นคอ 4 เส้นจะมีความคมชัด
4.พิมพ์บี เริ่มปรากฏเนื้อเกินในซอกแขนด้านหลังซึ่งเกิดจากแม่พิมพ์ที่เริ่มชำรุด ส่วนพิมพ์เอไม่มีเนื้อเกินในซอกแขนขวาที่ด้านหลัง
5.พิมพ์บี ที่ชายสังฆาฏิชนฐานด้านล่างจะมีเนื้อเกินต่อฐานเกิดจากแม่พิมพ์ที่เริ่มชำรุด ส่วนพิมพ์เอ บริเวณที่ชายสังฆาฏิด้านล่างชนฐานจะไม่มีเนื้อเกิน
6. พิมพ์บี นั้นฐานด้านหลังเริ่มมีการแต่งตะไบเป็นเหลี่ยมเล็กน้อยและไม่มีการรมดำ, ส่วนพิมพ์เอ บริเวณฐานด้านหลังจะเป็นครึ่งวงกลม จึงเป็นที่มาของคำว่าพิมพ์นิยมฐานกลม และเฉพาะเนื้อทองเหลืองในบางองค์จะมีการรมดำปรากฏอยู่ตามซอกผิว นับเป็นเอกลักษณ์ของพิมพ์ฐานกลมพิมพ์เดียวพิมพ์อื่นไม่มีการรมดำ
เมื่อเรามาพิจารณาในแง่ของวิทยาศาสตร์ เนื้อโลหะทองเหลืองเก่าก็จะมีออกไซด์(คล้ายสนิมสีออกน้ำตาลเป็นหย่อมๆ) คลุมผิวองค์พระอันเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างอากาศกับโลหะทองเหลืองเช่น โลหะทองเหลืองต้องมีความแห้งเป็นธรรมชาติของพระเก่าอายุเกือบ 80 ปี(นับถึงปัจจุบัน)
รูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2482 พร้อมเหรียญรูปไข่ในคราวที่หลวงพ่อเดิมอายุครบ 82 ปี มีบันทึกไว้ว่า ทางคณะศิษย์จ้างโรงปั๊มที่กรุงเทพฯ โดยทางคุณประดิษฐ์ ลิ้มประยูร พนักงานรถไฟลูกศิษย์เอกหลวงพ่อเดิมเป็นผู้มาติดต่อ
รูปเหมือนปั๊มที่จัดสร้างในคราวนั้นมีจำนวนไม่มาก คะเนกันว่าอยู่ในราวไม่กี่พันองค์ มีอยู่ด้วยกัน 2 เนื้อ คือ เนื้อทองเหลือง และเนื้ออัลปาก้าหรือเนื้อช้อนส้อม ที่เรียกเนื้อช้อนส้อม เพราะทางโรงงานใช้ช้อนส้อมตราแพะมาหลอมและนำมารีดเป็นโลหะ ก่อนนำปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อเดิม นั่นเอง
เมื่อปั๊มเสร็จแล้ว ถึงจะนำรูปหล่อที่ปั๊มมาทำการตัดปีกแต่งขอบ และตะไบเก็บรายละเอียดของด้านข้าง พร้อมกับแต่งริ้วจีวรทั้งด้านหน้า ริ้วจีวรด้านหลัง และริ้วจีวรด้านข้าง จากนั้นทำความสะอาดก่อนส่งวัดและทางวัดจะนำไปลงเหล็กจารใต้ฐานกำกับ
นอกจากพิมพ์ เอ บี ซี ดี แล้วยังมีพิมพ์คอตึงจีวรถี่ และพิมพ์คอตึงจีวรห่าง อันเกิดจากบล๊อกแม่พิมพ์ด้านหน้าที่ผ่านการปั๊มมาชำรุด ช่างก็ทำแม่พิมพ์ด้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 พิมพ์นั่นเอง ส่วนแม่พิมพ์ด้านหลังคงใช้แม่พิมพ์เดิม ฉะนั้นด้านหลังของแม่พิมพ์คอตึงจึงมีแบบเดียวกับบล๊อกแม่พิมพ์ดี และรูปเหมือนปั๊มพิมพ์คอตึงทั้ง 2 พิมพ์จะมีเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ไม่เคยพบว่า มีเนื้อช้อนส้อมหรือเนื้ออัลปาก้า แต่อย่างใด และที่สำคัญรูปเหมือนปั๊มหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ผิวต้องเรียบตึง ต้องไม่มีรูพรุนหรือฟองอากาศเด็ดขาด