THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

24 กันยายน 2562 : 19:30 น.

เครือข่ายการเล่นผนึกกำลังขยายแนวคิดการเล่นอิสระจัดงาน Play Day วันเล่นสนุก เล่นเปลี่ยนโลกแนะพ่อแม่ควรให้โอกาสลูกได้เล่น

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ร่วมกับเครือข่ายการเล่นทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข สาธารณสุขศูนย์ 5 สำนักงานเขตปทุมวัน คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) กลุ่มไม้ขีดไฟ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา(มยพ.) เครือข่ายครูมหัศจรรย์ We Are Happy มูลนิธิเมล็ดฝัน และเครือข่ายรองเมืองเรืองยิ้ม และMBK Center จัดงาน Play Day วันเล่นสนุก เล่นเปลี่ยนโลก ณ ลานอเวนิว โซน A MBK Center เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขยายแนวคิดการเล่นอิสระและขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิการเล่นในประเทศไทย เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอิสระมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมในงานจัดเป็นมุมเล่นต่างๆที่ใช้ธรรมชาติ วัสดุสิ่งของที่หลากหลาย ของรีไซเคิล เครื่องเล่น จำนวน 6โซน ประกอบด้วย โซนประดิษฐ์ คิดค้น MBK SPIRIT ชวนสนุกกับของเล่นรีไซเคิล โซนเสริมสร้างความมั่นใจ วัยซน โซน Loose part โซนเล่น ATR SPACE โซน Floor Play และโซนมุมทราย

น.ส.ประสพสุข โบราณมูล ผู้จัดการฝ่ายคุ้มครองและพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวถึงความหมายของการเล่นอิสระว่าเป็นการเล่นที่เด็กได้ออกแบบเอง ได้คิดค้นวิธีเล่นกับสิ่งของต่างๆที่อยู่รอบตัว และการเล่นเป็นพื้นฐานชีวิตของเด็ก เด็กจะมีความสุขเมื่อได้เล่น จึงเป็นการเปิดทางให้เด็กได้พัฒนาตนเองในทุกๆด้าน ผู้ปกครองจึงควรเปิดโอกาสให้เด็กๆได้เล่นอย่างอิสระ

ด้านน.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) กล่าวว่า การเล่นเป็นสิ่งสำคัญไม่เฉพาะกับเด็กที่รวมถึงผู้ใหญ่ด้วยและการเล่นสามารถเปลี่ยนโลกได้ เพราะการเล่นสอนให้เด็กรู้จักการอยู่ร่วมกัน รู้จักจัดการเมื่อเกิดความขัดแย้ง หลายประเทศจึงเรียกร้องให้เด็กมรโอกาสได้เล่นอย่างอิสระ มากกว่าการเรียนการแข่งขันกัน

“ เครือข่ายที่ทำการเล่นไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่มีในประเทศอื่นด้วย เวลาไปสัมมนาเรื่องการเล่นระดับ จะเป็นการรวบรวมคนหลายอาชีพ อย่างนักวางแผน นักเศรษฐศาสตร์ นักคิด นักปกครอง โดยคนเหล่านี้ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าเด็กได้เล่น เด็กจะรู้จักการอยู่ร่วมกัน หากเกิดความขัดแย้งต้องทำอย่างไร รู้จักการแก้ไขปัญหา การเล่นจะทำให้เด็กได้รู้จักตัวตนที่แท้จริง ฉะนั้นนักคิดหลายประเทศจึงยืนยันว่า ถ้าเด็กได้เล่นมากขึ้น โลกจะมีสันติภาพ ” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าว

นางทิชา ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวถึงการสนับสนุนการขับเคลื่อนในครั้งนี้ว่า “ สสส.ในฐานะที่เป็นองค์กรสุขภาวะ ในสำนักที่ 4 เราทำเกี่ยวกับเรื่อง เด็ก เยาวชน และครอบครัว จึงเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ยิ่งในยุคที่สื่อดิจิทัลล้ำหน้าในขณะที่การเล่นของเด็กกำลังจะหายไป ถ้าไม่มีใครสักกลุ่มทำหน้าที่เป็นกำแพงเหล็ก การเล่นอย่างอิสระเล่นอย่างธรรมชาติจะถูกลดคุณค่า ความสำคัญและจะหายไป ทั้งที่การเล่นเป็นคุณของมนุษยชาติ เราไม่อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนภาพได้ โดยที่เราไม่มีโอกาสได้เล่นอย่างอิสระ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ สสส.กล่าวเสริมว่า พ่อแม่เป็นพลังสำคัญที่จะชวนลูกเล่น พ่อแม่หลายคนก็มีข้อจำกัด ดั้งนั้นต้องมีคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่เป็นลมใต้ปีกให้กลุ่มพ่อแม่ และองค์กรเหล่านั้นต้องมีลมใต้ปีกให้ด้วยเช่นกัน ทุกห่วงโซ่หากทำหน้าที่ร่วมกันเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะปกป้องเด็กๆ ให้มีทุนชีวิตเรื่องการเล่นจะดำเนินต่อไปไม่ว่าสื่อดิจิทัลจะก้าวล้ำไปขนาดไหน การที่มีเครือข่ายลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้โดยมีสสส.เป็นผู้สนับสนุน เป็นการทำภาระกิจกที่สมบูรณ์ที่สุดในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามาคุกคามชีวิตเด็กๆ ปัจจุบันเรื่องการเล่นในประเทศไทยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบหลายอย่าง

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ