20 จังหวัด จับมือ กสศ. - ศธ. - พม. และ สถ. เดินหน้าค้นหา – ช่วยเหลือ - ฟื้นฟู เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษารายคน กสศ.พร้อมช่วย 5,000 คนแรก หลังพบปี 62 มีเด็กนอกระบบมากกว่า 8 แสนคน ใน 20 จังหวัดนำร่อง
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่สยามสแควร์วัน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และภาคีเครือข่าย 20 จังหวัดสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดตัวโครงการรณรงค์ “เด็กไร้…ได้เรียน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อค้นหา ช่วยเหลือเด็กนอกระบบให้มีโอกาสกลับมาในเส้นทางการศึกษาอีกครั้ง
ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ กสศ. และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เด็กและเยาวชนนอกระบบจะติดกับดักชีวิตที่เรียกว่า โง่ จน เจ็บ เป็นวงจรจากรุ่นสู่รุ่น ถูกสังคมมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญมาโดยตลอดด้วยอคติเชิงลบ เส้นทางชีวิตของเด็กและเยาวชนจะเป็นศูนย์หรือติดลบทันที เมื่อหลุดออกนอกระบบการศึกษา เพราะมีแนวโน้มสูงที่จะเข้าสู่วงจรสังคมสีเทาที่อันตราย 3 เรื่องสำคัญ 1.เส้นทางแรงงานนอกระบบ มีรายได้ต่ำ ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ทำงานที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ 2.เส้นทางของการค้าประเวณี โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง 3.เส้นทางยุวอาชญากร ตกอยู่ในวังวนยาเสพติด เป็นเด็กเดินยา ลักเล็กขโมย
“ถ้าเราปล่อยให้ปัญหานี้ดำเนินต่อไป อย่างไม่สนใจ ผลักไสให้พวกเขาไปอยู่ด้านมืดของสังคม ในที่สุดผลเสียจะเกิดแก่สังคม และประเทศชาติ ทั้งที่เด็กนอกระบบจำนวนมาก มีต้นทุนของความใฝ่ดี มีความอดทน ความกตัญญูกตเวที มองเห็นคุณค่าของการเรียนแต่ไม่มีโอกาส ดังนั้นสิ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้ คือการเปลี่ยนมุมมองต่อเด็กนอกระบบใหม่ ช่วยกันเยียวยาชีวิต ให้โอกาส รวมถึงช่วยกันสมทบความช่วยเหลือเพื่อสร้างคน ให้ชีวิตใหม่ต่อยอดอนาคตทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า กสศ.ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) และเครือข่าย 20 จังหวัดสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา กาญจนบุรี นครนายก ระยอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา และสงขลา
สำหรับ การดำเนินโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระดมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาอายุระหว่าง 2-21 ปี โดยทั้ง 20 จังหวัดจะใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศเชื่อมฐานทะเบียนราษฎร์กระทรวงมหาดไทย กับข้อมูลเด็กปฐมวัยของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และข้อมูลเด็ก เยาวชนนอกระบบการศึกษาจาก กศน. เพื่อคัดกรองรายชื่อเด็กเยาวชนนอกระบบให้เป็นปัจจุบันที่สุด
ผู้ช่วยผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้มาจากความร่วมมือของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กศน. ท้องถิ่นจังหวัดและภาคีอีก 20 จังหวัด ทำให้ทราบว่าในเบื้องต้นจนถึงช่วงเดือน กันยายน 2562 พบข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบที่มีอายุระหว่าง 2-21 ปี เฉพาะใน 20 จังหวัด มีจำนวน 867,242 คน แบ่งเป็น เด็กปฐมวัยช่วงอายุ 2-6 ปี จำนวน 242,002 คน ช่วงอายุ 7-17 ปี จำนวน 177,383 คน และอายุระหว่าง 18-21 ปี จำนวน 447,846 คน สำหรับตัวเลขเด็กและเยาวชนนอกระบบรายจังหวัด เช่น นครราชสีมา 116,422 คน อุบลราชธานี 95,613 คน เชียงใหม่ 92,525 คน ขอนแก่น 78,977 คน สุราษฎร์ธานี 59,261 คน มหาสารคาม 45,103 คน กาญจนบุรี 43,914 คน พิษณุโลก 36,904 คน ยะลา 34,991 คน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 20 จังหวัด จะใช้ตัวเลขเหล่านี้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการทำงาน แต่ละจังหวัดจะนำรายชื่อเด็กและเยาวชนนอกระบบเหล่านี้ พร้อมระดมสรรพกำลัง เช่น กศน.จังหวัด อพม. อาสาสมัคร ออกไปค้นหา สำรวจให้พบตัวเด็ก โดยมี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเป็นจุดแรกรับช่วยเหลือ หลังจากนั้นทีมสหวิชาชีพจะวิเคราะห์ปัญหาเชิงลึกเป็นรายบุคคลเพื่อทำแผนดูแลเด็กเป็นรายกรณีด้วยแนวทางที่มีความยืดหยุ่น โดยมี ท้องถิ่น/ท้องที่ ประชาสังคม องค์กรเอกชน มูลนิธิต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย มีเป้าหมายเพื่อส่งต่อให้เด็กส่วนใหญ่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือฝึกทักษะด้านการศึกษาและอาชีพ ส่วนกลุ่มที่ยังไม่พร้อมคืนสู่ระบบการศึกษา ก็จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยา/ฟื้นฟูจากทีมสหวิชาชีพต่อไป
“เด็กและเยาวชนนอกระบบเป็นกลุ่มเปราะบาง การกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โรงเรียนเองก็จะต้องปรับการเรียนการสอนให้มีความพร้อมที่จะรองรับ มีระบบแนะแนว เพื่อไม่ให้หลุดออกจากระบบซ้ำอีก สำหรับกลุ่มที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ เพราะต้องทำมาหาเลี้ยงชีพหรือมีข้อจำกัด ก็จะมีทางเลือกอื่นๆ ที่มีความยืดหยุ่นตามสภาพปัญหาของเด็กแต่ละคน ซึ่งตรงนี้ทาง กศน. จะมีบทบาทสำคัญมากในการจัดโปรแกรมการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาเด็กต่อไป ทั้งนี้ในปี 2562 กสศ.ได้จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเด็กนอกระบบกลุ่มแรกจำนวน 5,000 คนๆ ละ 4,000 บาท แต่ในขณะที่ขนาดของปัญหานี้ มีเด็กและเยาวชนเป้าหมาย เป็นหลักแสนหรืออาจถึงหลักล้าน กสศ.ร่วมกับ 20 จังหวัดจึงขอเชิญชวนประชาชนและทุกภาคส่วนต่างๆ ในสังคมร่วมบริจาคในโครงการ “ล้านคน ล้านใจ ร่วมบริจาคกับกสศ. ให้โอกาสเด็กไร้...ได้เรียน”โดยสามารถเข้าไปบริจาคและใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่าได้อัตโนมัติที่ https://donate.eef.or.th/main-donate หรือสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หมายเลขโทรศัพท์ 02-079-5475”
นางวาริน ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้จัดการโครงการ องค์การช่วยเหลือเด็ก กล่าวว่า แม้เด็กๆ ส่วนใหญ่ ในประเทศไทยในปัจจุบัน จะอยู่ดีกินดี มีการศึกษาที่ดี กว่าเด็กๆ ในอดีต แต่ก็ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มเปราะบางที่ยังถูกมองข้าม อาทิ เด็กยากจน เด็กที่มีสภาพบกพร่องทางร่างกาย เด็กชนกุล่มน้อย เด็กไร้รัฐ และเด็กต่างด้าว จึงนับว่าเป็นปัญหาที่น่าวิตก และนั่นเป็นเหตุผลที่องค์การช่วยเหลือเด็ก ได้พยายามรณรงค์ เพื่อให้เด็กๆ ทุกคนในประเทศไทย สามารถเข้าเรียน และพัฒนา อย่างเสมอภาค ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานการณ์ มีภูมิหลัง หรือสัญชาติใดๆ
"เด็กทุกคนล้วนมีสิทธิในการเข้าเรียน ได้รับการศึกษา เพื่อเป็นรากฐานพัฒนาการที่แข็งแรง และสุขภาวะในวัยเด็ก หากเด็ก ไม่สามารถเรียนรู้ ไม่ว่าจะมาเป็นเพราะขาดเอกสารสำคัญ มีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ หรือการที่พวกเขาต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร เช่นในกรณีพ่อแม่วัยใส และนี่คือสาเหตุสำคัญของความร่วมมือระหว่าง กสศ. องค์การช่วยเหลือเด็ก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันทำงานเพื่อให้เด็กทุกคน ได้รับการศึกษาอย่างไม่ตกหล่น” นางวาริน กล่าว
น้องธนกร นิโรรัม หรือ “อ๋า” เด็กนอกระบบการศึกษา จาก จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ผมตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนระหว่างอยู่ชั้น ม.1 เพื่อไปทำงาน รับจ้างเป็นเด็กยกเครื่องเสียงให้กับวงหมอลำที่อยู่ในหมู่บ้านตระเวนรับงานตามงานวัดงานบวชต่างๆ รายได้จากงานรับจ้างที่ไม่แน่นอน เงินที่ได้ นำไปช่วยจุนเจือครอบครัว ตอนที่ต้องออกจากโรงเรียน ผมยังหวังว่าจะได้กลับไปเรียนเสมอ ตอนนี้ยังไม่มีโอกาสได้เรียนก็อยากเรียนให้จบเหมือนเพื่อน
“เชื่อว่าคนอื่นๆ ที่เป็นเหมือนผมหลายคนอยากจะกลับไปเรียน ไม่มีใครอยากทิ้งอนาคต และผมอยากให้คนอื่นมองเห็นคุณค่าในตัวพวกผม ให้สังคมเข้าใจว่าพวกเราไม่ได้อยากหยุดเรียนขอเพียงทุกคนให้โอกาสพวกเรา และอยากจะบอกไปถึงเพื่อนๆ ทุกคนที่เป็นเหมือนผมให้ลุกขึ้นมาสู้ มีกำลังใจ อย่ายอมแพ้ อนาคตผมฝันแล้วว่าถ้าหากได้กลับเข้ามาเรียนอีกผมจะสอบเป็นทหาร หาเงินมาดูแลครอบครัว” น้องธนกร กล่าว
ทั้งนี้ โครงการนี้ยังได้ระดมพลังศิลปิน Graffiti ชั้นนำของเมืองไทยกว่า 20 ชีวิต ร่วมสร้างผลงานกราฟฟิตี้ภาพชีวิต #iWasHere (ฉันเคยอยู่ตรงนี้) ถ่ายทอดเรื่องราว การมีอยู่ของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ เพื่อเป็นการบันทึกว่าครั้งหนึ่ง เคยมีเด็กและเยาวชนที่ต้องออกจากระบบการศึกษา และใช้ชีวิตเร่ร่อนตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว โดยปรากฎตามกำแพงสำคัญๆ ใน 20 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา กาญจนบุรี นครนายก ระยอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา และสงขลา อีกด้วย