กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จับมือภาคีเครือข่ายภาคเหนือ จัดงานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย 2562 “ผนึกกำลังสื่อสร้างสรรค์ สร้างนิเวศสื่อที่ดี”พร้อมมอบรางวัล “TMF AWARDs 2019” ให้แก่ผู้ผลิตสื่อดีเด่น
ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จับมือ ภาคีเครือข่ายในภาคเหนือ จัดงาน รวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย 2562 “ผนึกกำลังสื่อสร้างสรรค์ สร้างนิเวศสื่อที่ดี” นำเสนอนิทรรศการสะท้อนแนวคิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างนิเวศสื่อที่ดี ประกาศเจตนารมณ์แสดงพลังสื่อสร้างสรรค์ พร้อมมอบรางวัล สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “TMF AWARDS 2019” ให้กับผู้ผลิตสื่อดีเด่นจากภาคเหนือ โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมอย่างคึกคัก
นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ วัฒนธรมมจังหวัดลำปาง ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวถึงการส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ “ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ สื่อมีอิทธิพลต่อการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของคนในสังคม รวมถึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง การปกครอง วัฒนธรรม และวิถีชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ การส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทัน และมีวิจารณญาณในการบริโภคสื่อ และมีภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรม ให้มีมากขึ้นในสังคมจึงมีความสำคัญยิ่ง”
นางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึง ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงเป็นนิเวศสื่อ “ความหลากหลายของระบบสื่อที่มีความสัมพันธ์ต่อมนุษย์และสังคม การสร้างการตระหนักรู้ให้เท่าทัน นำไปสู่ความสมดุลระหว่างผู้ใช้สื่อ ระบบสื่อ เทคโนโลยี และโครงสร้างทางสังคม ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คือเกิดสื่อแวดล้อม หรือ นิเวศสื่อที่ดี”
น.ส.สร้อยแก้ว คำมาลา เจ้าของรางวัลสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนดีเด่น ในผลงาน สารคดี แดน คนพื้นบ้าน ม้าพื้นเมือง ที่นำเสนอเรื่องราวของเกษตรกรรุ่นใหม่ในท้องถิ่น ที่สร้างทุกอย่างด้วยสองมือของตนเองโดยไม่มีต้นทุนทางครอบครัวสนับสนุนมากมายนัก แต่ทำด้วยใจรักอย่างแท้จริงโดยไม่ละทิ้งถิ่นฐาน พร้อมนำเสนอเรื่องราวควบคู่กับการเปิดมิติด้านการศึกษาที่หลุดพ้นจากมายาคติในปัจจุบัน
น.ส.สร้อยแก้ว ระบุว่า สารคดีชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตในรายการสารคดีที่นี่บ้านเราของช่องทีวีสาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการให้ผู้ผลิตหยิบยก ประเด็นท้องถิ่นขึ้นมานำเสนอ ทั้งเรื่องการศึกษา เกษตร สิ่งแวดล้อม นำเสนอในมิติที่หลากหลาย ในฐานะผู้ผลิตรายการซึ่งเป็นคนท้องถิ่นอยู่แล้วสามารถรับรู้เรื่องราวและได้นำเสนออย่างลึกซึ้งซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน เป็นการโฟกัสงานท้องถิ่นที่มีคุณค่า ซึ่งตนได้ทำหน้าที่เป็นนักข่าวพลเมือง ในฐานะผู้ผลิตรายการซึ่งเป็นคนท้องถิ่นอยู่แล้วสามารถรับรู้เรื่องราวและได้นำเสนออย่างลึกซึ้งซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน เป็นการโฟกัสงานท้องถิ่นที่มีคุณค่า ซึ่งตนได้ทำหน้าที่เป็นนักข่าวพลเมือง
ทั้งนี้ โดยภาพรวมเรียกได้ว่ามีคุณภาพ มีการนำเสนออย่างรอบด้าน ถูกต้องและเป็นกลางซึ่งไม่ใช่เป็นกลางเสียจนตัดสินใจไม่ได้ว่าความถูกต้องเป็นอย่างไรส่วนหนึ่งเพราะเรามีข้อได้เปรียบในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล การเกาะติดข้อมูลเพราะอยู่ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ต้องนำเสนอข้อมูลรอบด้านให้มากที่สุดและถูกต้อง ซึ่งจะต้องค้นคว้าข้อมูลเป็นจำนวนมาก เช่น ในกรณีการสร้างเขื่อนในพื้นที่ เราต้องนำเสนอเพื่อให้ผู้ชมตัดสินใจได้ว่าควรสร้างไม่ควรสร้างอย่างไร
ด้านนายเกียรติศักดิ์ เวชชะ ตัวแทนกลุ่ม CTV หรือสำนักข่าวของสาขาวิชาการสื่อสารใหม่มหาวิทยาลัยพะเยา ที่ผลิตเนื้อหางานนำเสนอทางช่องCTVผ่านทางfacebook กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจของสื่อกลุ่มเราคือ เราเจาะกลุ่มวัยรุ่น ทั้งในมหาวิทยาลัย ชุมชน เราเข้าถึงได้ดี เราสามารถเข้าไปถ่ายทอดสด หรือliveเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที รวดเร็ว ฉับไวเพราะเราอยู่ในพื้นที่โดยตรง ขณะเดียวกันเราก็เหมือนกระตุ้นปัญหาโดยตรงให้คนในชุมชนได้ตระหนักมากขึ้น เมื่อนำเสนอสิ่งที่ใกล้ตัวเขาเป็นการได้ตอบสนองความต้องการของชุมชน ได้เรียนรู้ปัญหา และได้ช่วยเหลือชุมชน
ขณะที่ อาจารย์ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า นิเวศสื่อ คือสภาพแวดล้อมรอบสื่อ โดยประกอบด้วย3ส่วนสำคัญ คือ มิติการเมือง มิติเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และมิติสังคมวัฒนธรรม ซึ่งสื่อจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับ 3ส่วนสำคัญนี้ อย่างไรก็ตามถือว่า ทุกหน่วยงาน ภาครัฐหรือเอกชน ภาคประชาชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ต่างให้ความสนใจ สร้างนิเวศสื่อที่ดี สร้างสรรค์ ปลอดภัย จากประสบการณ์ตรง ในการทำงานด้านสื่อ ในข้อเสนอภาพรวมนั้น อยากให้มีการกำกับดูแลร่วมกัน เช่น ข้อเสนอ โดยผู้ประกอบการดิจิตอลที่ระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ละครในโทรทัศน์ถือว่ามีส่วนสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถทำอะไรกับผู้ผลิตละคร เนื่องจากไม่มีอำนาจ จึงอยากให้กำกับดูแลร่วมกัน โดยให้ กสทช.ออกกฎหมายมาบังคับใช้กับผู้ปฎิบัติ
อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันกฎหมาย กฎระเบียบ ต้องเอื้อให้ผู้ปฎิบัติได้จริง และมีความทันสมัย นอกจากนี้เราควรรู้เท่าทันสื่อ เข้าถึงข้อมูล วิเคราะห์สื่อ การมีส่วนร่วม และไปถึงในระดับแอคชั่น กระตุ้นสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามในกระแสรู้เท่าทันสื่อ เพื่อสร้างนิเวศสื่อปลอดภัยนั้น จะต้องทำงานกันอย่างบูรณาการ มีการทำงานร่วมกัน