มหาดไทยประชุมผู้ว่าฯทั่วประเทศชี้แจงแนวทางปฏิบัติใช้งบ 15,800 ล้านบาทแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ย้ำชัดต้องเป็นโครงการความเดือดร้อนเร่งด่วนและต้องโปร่งใส
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติตามมติ ครม.ในการแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยมี ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ผู้แทนหน่วยงานส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจในสังกัด กทม. และเมืองพัทยา เข้าร่วมการประชุม ณ กระทรวงมหาดไทย
อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ มีนางญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง และ น.ส.นิรมล พานิชพงษ์พันธุ์ ผอ.กองจัดทำงบประมาณเพื่อการบูรณาการเขตพื้นที่ฯ สำนักงบประมาณ พร้อมคณะ ร่วมชี้แจงแนวทางการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นายบุญธรรม เปิดเผยว่า มติครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2562 มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก พร้อมหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณค่าใช้จ่ายกับสำนักงบประมาณและให้นำเสนอครม. ซึ่ง ครม.ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทยใช้จ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 15,800 ล้านบาท แยกเป็นสำหรับ 74 จังหวัด จังหวัดละ 200 ล้านบาท และสำหรับจ.สุรินทร์และจ.บุรีรัมย์ จังหวัดละ 500 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
รองปลัดกระทรวงมหาไทย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องปฏิบัติตามแนวทางของสำนักงบประมาณอย่างเคร่งครัด และสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยโครงการที่ขอใช้งบประมาณต้องเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน เช่น โครงการที่เกี่ยวกับการสร้างอาชีพ รายได้ การจ้างแรงงาน ตลอดจนการซ่อมแซม ปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำ การขุดเจาะ เป่าล้างบ่อบาดาล ระบบส่งน้ำ ระบบประปา เป็นต้น และต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อม
ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เสนอแผนงาน/โครงการผ่านกองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 18 เขต (CBO) ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย. 2562 และจะต้องดำเนินการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30 ก.ย.2562 โดนการดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด