THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

28 สิงหาคม 2562 : 10:01 น.

กางแผนเลือกตั้งท้องถิ่น 1.4 แสนตำแหน่ง คาดคนตื่นตัวสูงครั้งประวัติศาสตร์

โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

การเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศถูกแช่แข็งอย่างน้อย 5 ปี ทั้งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)เกือบหมื่นแห่งหมดวาระลงมานาน แต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)ได้ออกคำสั่งระงับการเลือกตั้งเพราะกลัวเกิดบรรยากาศความขัดแย้งในบ้านเมืองขึ้น

ทว่า หลัง คสช. หมดอำนาจ นำมาสู่การเลือกตั้งใหญ่ สส.วันที่ 24 มี.ค. 2562 ตามโรดแมปจากนี้จะมีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่หมดวาระล็อตมโหฬาร 97,940 ตำแหน่ง ซึ่งเดิมรัฐบาลจะเริ่มให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ได้ก่อนในเดือนตุลาคมปีนี้ แต่ที่สุดต้องเลื่อนไปอีกคาดว่า จะเป็นช่วงไตรมาสแรกปีหน้า จากเหตุผลการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ทำให้ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะนำใช้จัดการเลือกตั้งทั้องถิ่นด้วย ต้องเลื่อนการบังคับใช้เป็นปีหน้าไปด้วย

กระนั้น ก็ไม่ช้าเกินไป คาดว่า อีก 6 เดือนจากนี้ หรือ เดือนก.พ. 2563 เป็นต้นไป คนกรุงอาจได้เข้าคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ขณะที่ต่างจังหวัดอาจได้ไปใช้สิทธิ์เลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศเป็นลำดับแรกก่อน ซึ่งวันนี้ผู้สมัครบางพรรค ทยอยเปิดตัวประกาศชิงสนามท้องถิ่นกันแล้ว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)ที่ดูแลภารกิจ ประสานงานการเลือกตั้งท้องถิ่นร่วมกับคณะกรรมการการเลือดกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์พิเศษว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นถือเป็นครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์การปกครองท้องถิ่นไทย เพราะไม่มีครั้งไหนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 7,852 แห่งทั่วประเทศ ที่ผู้บริหารและสมาชิกสภาหมดวาระพร้อมกัน ทั้ง กทม. เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 จังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,332 แห่ง และเทศบาล จึงต้องมีการเลือกตั้ง ทั้งนายกฯ และตัวสมาชิกสภา ปัจจุบันเรามีจำนวนสมาชิกที่ว่าง 97,940 ตำแหน่ง ถ้ารวมผู้สมัครแข่งขันในอัตรา 1 ต่อ 3-4 แล้ว ก็เกือบ 5-6 แสนคนที่จะลงแข่งกันทั้งประเทศ

ชงเลือก 3 ขยัก เว้น 3 เดือน ผู้ว่าฯกทม.คิวแรก

อธิบดี สถ. กล่าวว่า เท่าที่ทราบ กกต.มีแผนจัดการเลือกตั้งที่ในแต่ละรูปแบบไม่พร้อมกัน โดยตัวแทนของกกต.ชี้แจงกับคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ตอนร่างกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับ ว่า การเลือกตั้งจะเริ่มจากรูปแบบพิเศษก่อน คือ 1.กทม. เมืองพัทยา อบจ. 2. เทศบาล 3.อบต. แต่ละรูปแบบจะมีระยะเวลาในการเว้นวรรค ประมาณ 3 เดือน ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งประชาชนต้องไปใช้สิทธิ์เลือก 2 ครั้ง คือ อบจ.กับ อบต. เว้นแต่ในกทม.อาจเลือกพร้อมกันทีเดียวระหว่างผู้ว่า กทม.กับ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

เหตุผลอีกอัน คือ กกต. กังวลเรื่องการสืบสวน สอบสวน ข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้น จะเลือกพร้อมกันทีเดียว 7,852 แห่งไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นคงเป็นมหกรรมหาเสียงที่สับสนอลหม่านเพราะมีหลายรูปแบบ

“ผมเคยตอบท่านมีชัย ตอนที่ผมไปชี้แจงในฐานะกระทรวงมหาดไทย ว่า อยากให้เลือกรูปแบบพิเศษก่อน ตามด้วย อบจ. เทศบาล สุดท้ายคือ อบต. เรียงจากไซส์ใหญ่ไล่ลงไปตามขนาดความเจริญ กกต.ก็มีแนวโน้มที่จะทำแบบนี้เหมือนกัน แต่ก็เป็นความเห็นไม่เป็นทางการ อยู่ที่ กกต.คุยกับท่านนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐบาลเป็นผู้จัดสรรงบให้กกต.ก็ต้องดูว่าห้วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วงไหน”

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง อธิบดีสถ. คาดว่าอยู่ที่ 5,000 กว่าล้านบาท ทั้งค่าจัดการเลือกตั้ง ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ ค่าพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ค่าฝึกอบรม ค่าเอกสาร ค่าธุรการ ขณะที่การเลือกตั้ง สส. อยู่ที่4,000 กว่าล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่รัฐบาลจะจัดสรรให้การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะติดขัดบ้าง เนื่องจากเรามีเลือกตั้ง และมีรัฐบาลในช่วงปลายปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่จะต้องจัดทำปีงบประมาณปี 2563 ซึ่งที่ผ่านมาเดือนนี้ (ส.ค.) ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้ว แต่ปัจจุบันยังล่าช้าไม่เสนอเข้าสภา คณะกรรมการที่มีหน้าที่ยกร่างจัดทำคำของบประมาณก็เปลี่ยนหมด กระบวนการก็ไม่ได้เดิน สรุป คือ กระบวนการจัดทำงบประมาณหยุดชะงัก 3-4 เดือน แต่ สถ. ได้ชี้แจงกับนายวิษณุว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นอย่าให้เร็วกว่าเดือนตุลาคม 2562 เพราะช่วงนี้ท้องถิ่นต้องทำข้อบัญญัติงบประมาณเหมือนกัน ถ้าเลือกในช่วงเดือนก.ย. ผู้นำท้องถิ่นจะหยุดทำงานหมดเนื่องจากกฎหมายบังคับห้ามปฏิบัติหน้าที่ 45 วัน

“ตอนนี้เรารอแต่ความชัดเจนระหว่างกกต.กับรัฐบาลที่จะหารือกันว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

มีลุ้นใช้สิทธิ์พุ่ง 90%พรรคใหม่กระตุ้น – คนอยากเปลี่ยน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ น่าจะตื่นตัวมากกว่าการเลือกตั้ง ส.ส.เพราะผู้บริหารท้องถิ่นมีความสัมพันธ์ ใกล้ชิดกับ ประชาชนมากกว่า ส.ส. ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติก็ใกล้ชิดกว่า คนที่ลงสมัครท้องถื่นก็ต้องเป็นคนท้องถิ่น

ทั้งนี้ สถิติการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา 74.69% ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุดอยู่ที่ 78-80% ฉะนั้น ก็มีโอกาสที่ท้องถิ่นจะตื่นตัวมากกว่า และครั้งนี้ปัจจัยที่น่าจะใช้สิทธิ์มากกว่าเดิมคือ 1.คนหนุ่มสาวตื่นตัว 2. พรรคการเมืองประกาศตัวชัดเจนที่จะส่งตัวแทนสมัครท้องถิ่น 3. ผู้บริหารท้องถิ่น ชุดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็อยู่ไม่ต่ำกว่า 5-7 ปี เพราะคสช.อยู่ในตำแหน่งมา 5 ปี การอยู่นานก็ใกล้ชิดกับประชาชน ก็มีทั้งคนชอบไม่ชอบ คนไม่ชอบก็อยากจะเปลี่ยน จึงมั่นใจว่า คนจะมาใช้สิทธิ์มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ครั้งนี้อาจจะแตะหลัก90%ก็ได้

“พฤติกรรมการการเลือกตั้งในอดีต คนที่ไม่ค่อยไปใช้สิทธิ์ คือ คนที่มีความรู้ กับ วัยรุ่น แต่การเลือกตั้ง สส.ที่ผ่านมา กลับมีคนหนุ่มสาวเยอะขึ้น ดังนั้น การที่มีพรรคการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะครั้งนี้ มีพรรคใหม่ขวัญใจวัยรุ่น ประกาศลงเล่นการเมืองท้องถิ่นด้วย ก็มีผลให้คนที่มีความรู้ในโลกโซเชียลตื่นตัว ก็เป็นการดี ที่คนจะมาใช้สิทธิ์ของตัวเอง”

เมื่อถามถึง ความคาดหวังที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งใหญ่สุดของประเทศ อธิบดี สถ. กล่าวว่า เราต้องเคารพผู้มาใช้สิทธิ์ก่อน แต่หลักๆ คือ คนที่อยู่ในตำแหน่งจะได้มีโอกาสทบทวนการทำงานจากเสียงสะท้อนของประชาชนว่า คะแนนตัวเองลดเพิ่มอย่างไร ถ้าประชาชน เลือกผิดก็ต้องทนอยู่กับมันอีก 4 ปี เป็นอย่างมาก จากนั้นก็มาใช้พลังตัวเองเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่นผู้นำ นโยบาย นี่ คือ ความสวยงามของประชาธิปไตย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเมืองท้องถิ่น ไม่ได้เปิดโอกาสเฉพาะการเลือกตั้งเท่านั้น แต่กระบวนการทำงานของสภาท้องถิ่นต้องยึดโยงอยู่กับเสียงประชาชน เช่น แต่ละปีจะทำแผนพัฒนาอะไร คุณต้องมีประชาคม มีการประชุมเพื่อให้แต่ละพื้นที่ เสนอปัญหาความต้องการ และให้ความเห็นชอบด้วย ไม่เหมือนการเมืองระดับชาติ สรุป คือ ท้องถิ่นมันเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถกำหนดทิศทางพัฒนา แก้ไขปัญหา ดูแลท้องถิ่นของตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำ ถ้าทำอะไรที่ไม่อยู่ในแผน ผู้บริหารท้องถิ่นคนนั้นก็อาจถูกปลดจาก ป.ป.ช.แน่ ในอนาคต ถ้าการบริหารท้องถิ่นยกระดับ ก็จะเหมือนต่างประเทศที่นักการเมืองท้องถิ่นโตขึ้นมาเป็นนักการเมืองระดับชาติ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยยังไม่เป็น

โรดแมปสู่รัฐบาลกลาง เงินต้องมา- รายได้ต้องมี

อธิบดี สถ. กล่าวถึงปัญหาท้องถิ่นในปัจจุบันว่า ยังมีรายได้ไม่พอเลี้ยงตัว ทั้งที่ โครงสร้างกำหนดให้ท้องถิ่นมีรายได้เป็นของตัวเอง แต่ก็ยังไม่เป็นการทั่วไป เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ถูกแยกเป็นของรัฐบาลกลาง ขณะที่ท้องถิ่นมีโอกาสจัดเก็บรายได้เพียงนิดเดียว ในสัดส่วน 10:90 แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะประเทศเรา รัฐบาลกลางยังต้องทำงานให้ท้องถิ่นจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล ถนนคุณภาพดี รถไฟรางคู่ มหาวิทยาลัย หรือ การป้องกันประเทศ

“การถ่ายโอนงาน ปี 2542 เราถ่ายโอนเงิน ถ่ายงานจากกรมทางหลวง เป็นถนนท้องถิ่นระยะทางมากกว่า 4 แสนกิโลเมตร ตอนนี้ท้องถิ่นรับผิดชอบถนนอยู่ประมาณ 4-5 กม. แต่ก็ยังมี 3 แสนกิโลเมตร ที่เป็นลูกรังอยู่ หมายความว่า ท้องถิ่นได้งานไปก็จริง แต่เงินกลับไม่ตามมา” ความจำเป็นอีกอย่างคือ เราเป็นท้องถิ่นเต็มพื้นที่ โดย 80% ของพื้นที่ ยังมีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ท้องถิ่น 80% ของอปท. เป็นสังคมเกษตรที่มีแหล่งกำเนิดรายได้น้อย ก็จำเป็นที่รัฐบาลต้องช่วย กระจาย เม็ดเงินจากชุมชนเมืองใหญ่ไปให้ท้องถิ่นขนาดเล็ก มิฉะนั้น มันก็ตัวใครตัวมัน ท้องถิ่นขนาดเล็กก็จะล่มสลาย ส่งผลต่อการล้มเหลวในการดูแลประชาชน

อธิบดี สถ. กล่าวว่า ปัจจุบัน อปท. 7,800 กว่าแห่งบริหารงบประมาณเฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท ถือว่า ไม่มาก เพราะในจำนวนนี้เป็นงบสวัสดิการเป็นส่วนใหญ่มากกว่า 90% เช่น ผู้สูงอายุ ค่าอาหารกลางวัน นมเด็ก ภารกิจท้องถิ่นก็เหมือนดูแลประชาชนตามที่รัฐบาลกลางกระจายให้ ทั้ง การศึกษาในเด็กปฐมวัย งานสังคม งานแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การป้องกันสาธารณภัยต่างๆ การป้องกันโรคระบาด การดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะที่ มีงบลงทุนในท้องถิ่นเหลือเพียง 6-7 % เมื่อมีน้อย จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนรู้สึกว่า พัฒนาได้ช้า ทั้งที่ตามหลักการ งบลงทุนกับงบประจำ ควรเป็นครึ่งๆ ด้วยซ้ำ

“เราพยายามขับเคลื่อนให้ท้องถิ่นในไทย เป็นรัฐบาลกลาง หรือ รัฐบาลของท้องถิ่นที่บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังไปไม่ถึงเพราะโครงสร้างการปกครองของประเทศเรา รัฐบาลกลางกับภูมิภาค มันยังเข้มแข็งอยู่ เพราะประเทศเรายังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก ฉะนั้นหากปล่อยให้ท้องถิ่นเราสมบูรณ์แบบยุโรป ตะวันตก ท้องถิ่นก็จะเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ก็จำเป็นที่รัฐบาลกลางต้องกระจายความเจริญให้ท้องถิ่นไปจัดบริการให้ประชาชนอย่างทั่วถึง” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ