THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

25 สิงหาคม 2562 : 18:27 น.

นายกสภาจุฬาฯ เชื่อการมี พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ สร้างโอกาสการพัฒนาวัคซีนไทยให้เกิดความยั่งยืน พร้อมหนุน 'สวช.' เดินหน้าพัฒนาวัคซีน

ศ.(กิตติคุณ) นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวในการปาฐกถาเรื่อง “พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีน โอกาสการพัฒนาวัคซีนไทยอย่างยั่งยืน” ในการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ที่โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือทางสาธารณสุขที่สำคัญในการควบคุมป้องกันโรค เป็นนวตกรรมทางสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มทุน การมีพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เป็นการยกระดับเรื่องวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ประชาชนในประเทศมีวัคซีนใช้อย่างพอเพียงและทั่วถึง

ศ. (กิตติคุณ) นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า การวิจัยพัฒนาจนถึงการผลิตวัคซีนแต่ละชนิดออกมาใช้ป้องกันโรคนั้น มีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉลี่ยชนิดละ 500-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปี 2556-2558 พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าวัคซีนสูงถึงร้อยละ 92-96 ของวัคซีนที่ต้องการใช้ในประเทศ สะท้อนว่า ไทยยังพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนไม่ได้

ทั้งนี้ ขณะที่การผลิตวัคซีนเป็นธุรกิจเต็มตัว แต่กลไกตลาดยังล้มเหลว เพราะมีผู้ผลิตน้อยราย จึงมีลักษณะกึ่งผูกขาด ผู้ผลิตมีแนวโน้มผลิตเพื่อป้อนตลาดที่มีกำลังซื้อสูงเท่านั้น บางกรณีแม้ไม่มีสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ก็ลดการผลิตวัคซีนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากมีกำลังซื้อต่ำ ทำให้ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทยตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะขาดแคลนวัคซีนมาหลายครั้ง ด้วยปัจจัยข้างต้นทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาและผลิตวัคซีนบางชนิดที่จำเป็นขึ้นมาใช้เอง

นายกสภาจุฬาฯ กล่าวว่า การมี พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ จะเปิดโอกาสให้สามารถใช้อำนาจทางกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต จัดหาและพัฒนาวัคซีน ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ต้องซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ ในส่วนของผู้ผลิตและผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิตลง เพิ่มโอกาสส่งวัคซีนไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขัน มีความมั่นคงวัคซีน และพึ่งพาตนเองได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีกฎหมายออกมาแล้วแต่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง คือ 1. การจัดทำอนุบัญญัติอีก 19 รายการ และ 2. การขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ไปดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

“ปัจจัยสำคัญสุดคือการรวมพลัง การบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ถ้ามีการแก้ไขต่างๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้น ผมมีความเชื่อมั่นว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ น่าจะเพิ่มโอกาสพัฒนาวัคซีนไทย ให้มีความมั่นคงยั่งยืนในที่สุด” ศ (กิตติคุณ) นพ.ภิรมย์กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ