เตือนผู้สูงอายุใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสาร เสี่ยงสูงภัยร้ายโลกออนไลน์ Fake news คนใกล้ตัวควรให้ความรู้ เพื่อความปลอดภัย ชัวร์ก่อนไลก์ ต้องใช่ก่อนแชร์
นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต กรรมการผู้จัดการบริษัท สปอตไลท์ ครีเอชั่น จำกัดและผู้บริหารเพจ Start ให้ Up เปิดเผยว่า ปัจจุบันสื่อออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสาร รับส่งข้อมูลข่าวสารแบบเรียลไทม์ จากข้อมูลการใช้งานสื่อออนไลน์ พบว่ามีผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียมากกว่า 50 ล้านคน และอยู่ในทุกระดับของสังคมไทย โดยเฉพาะ Facebook ที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากเป็นอันดับ 8 ของโลก และเข้าใช้งานทุกวัน (Daily active users) มากกว่า 37 ล้านคน และในปีที่แล้วคนไทยมีการใส่ข้อความลงในสื่อโซเชียลมีเดียมากกว่า 5.3 พันล้านข้อความ และเป็นรูปภาพกว่า 230 ล้านภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่เริ่มมีการใช้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อสามารถติดต่อสื่อสารกับเพื่อนและลูกหลานได้ง่ายขึ้น ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ Line, Facebook และ Youtube ตามลำดับ โดย Line ใช้เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับญาติมิตร และมีพฤติกรรมเข้าใช้งานเป็นประจำ ส่วนช่องทาง Facebook จะใช้ในการอ่านข้อมูลข่าวสารและเรื่องทั่วไป ส่วน Youtube มีผู้สูงวัยบางกลุ่มเข้าใช้ Youtube เป็นระยะเวลานานกว่าสื่ออื่น โดยใช้เพื่อการหาความบันเทิง และความรู้ที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ
นายกมลธัญ กล่าวว่า ทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากสื่อออนไลน์ในการหลอกลวงให้หลงเชื่อ โดยเฉพาะข่าวปลอม หรือ Fake newsโดยในช่วงแรก Fake news จะปรากฎให้เห็นในรูปแบบของการหลอกลวงเพื่อให้เชื่อและซื้อสินค้า แต่ในระยะหลังเริ่มมีการใช้ Fake newsขยายสู่วงกว้างเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ แม้Fake news จะมีมานานควบคู่กับการเติบโตของสื่อโซเชียลมีเดีย ตามที่ปรากฎเห็นในหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุสำคัญของหลายคดีความ ทั้งนี้การห้ามปรามเป็นไปได้ยาก แม้จะมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมและระบุโทษที่ชัดเจน แต่การห้ามปรามก็ดูจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันผู้สูงวัยเริ่มมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการรับข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้น แต่การแชร์ข่าวปลอมในกลุ่มผู้สูงวัยยังคงมีให้เห็นอยู่บ้าง ทั้งในรูปแบบที่เป็นข่าวเก่า, ข่าวที่ถูกสร้างขึ้น และข่าวที่หลอกให้เชื่อเพื่อจะขายสินค้า ช่องทางการรับข่าวสารจะเป็นลักษณะของการแชร์ต่อ ๆ กันจากกลุ่มสู่กลุ่ม จากเพื่อนสู่เพื่อน ทำให้การคัดกรองข่าวมีน้อยลง เนื่องจากข่าวดังกล่าวมาจากคนใกล้ชิด
ทั้งนี้ จากงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่จัดทำขึ้นในปี 2016 โดย Andrew Guess ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Princeton ร่วมกับ Jonathan Nagler และ Joshua Tucker นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ พบว่าผู้สูงวัยมีโอกาสในการแชร์ข่าวปลอมสูงกว่าคนในช่วงวัยอื่นถึง 7 เท่า แม้จะยังไม่มีการจัดทำสถิติที่น่าเชื่อถือในไทย แต่การระมัดระวังภัยที่มาจากสื่อออนไลน์ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความใส่ใจ เพื่อไม่ให้มีใครต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี การให้ความรู้ที่เพียงพอจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อรู้เท่าทันสื่อที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในรูปแบบที่หลากหลาย
ผู้บริหารเพจ Start ให้ Up กล่าวเพิ่มเติมว่าสื่อโซเชียลมีเดียมีประโยชน์อย่างมาก เป็นเครื่องมือในการทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น สามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ ขณะเดียวกันก็มีภัยร้ายแฝงอยู่ไม่น้อย ดังนั้นการใช้สื่อโซเชียลมีเดีจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ทั้งในการกล่าวถึงบุคคลอื่น การละเมิดลิขสิทธิ์ การแชร์ข่าว หรือแม้กระทั่งการกด Like ต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันเรามี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่สามารถเอาผิดผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในทางที่ไม่ถูกต้องได้ และที่สำคัญ การแชร์บนความปรารถนาดีก็อาจจะส่งผลร้ายต่อคนที่รักได้แบบที่คุณไม่คาดคิด เช็กให้ใช่ ชัวร์ก่อนไลก์ก่อนแชร์