THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

16 สิงหาคม 2562 : 16:19 น.

กสศ.- สพฐ.- OECD โชว์ผลวิจัยไทยในเวทีโลก เด็กช้างเผือกไทยเจ๋ง มีทักษะความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ชาติใดในโลกทดลอง 200 โรงเรียน ด้านสพฐ. เตรียมขยายผลต่อ 400 โรงเรียนในปีการศึกษา 2562 นี้

เมื่อวันืี่ 16 ส.ค.ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยว่า โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้รับคัดเลือกเป็นงานวิจัยหนึ่งเดียวจากประเทศไทยที่ได้นำเสนอในเวทีการประชุมเครือข่ายสมาคมการวิจัยด้านการศึกษาโลกประจำปี 2019 (World Education Research Association: WERA 2019) ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวาระครบรอบ 10 ปีเครือข่ายวิจัยการศึกษาโลก เมื่อวันที่ 5-8 ส.ค. 62 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเครือข่ายสมาคมการวิจัยด้านการศึกษาจาก 60 กว่าประเทศทั่วโลกเข้าร่วม

ดร.ไกรยศ กล่าวว่า กสศ. สพฐ. และ OECD ศึกษาวิจัยด้วยกระบวนการ Stratified Random Sampling (SRS) และ Propensity Score Matching (PSM) กับกลุ่มตัวอย่างนักเรียนไทยกว่า 5,000 คนและครูมากกว่า 200 คนจาก 200 โรงเรียนขยายโอกาสสังกัด สพฐ. อปท. และ สช. ทั่วประเทศระหว่างปีการศึกษา 2559-2561 จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันเบื้องต้นระหว่าง กสศ. และผู้เชี่ยวชาญจากองค์การ OECD และมหาวิทยาลัยปารีสมีผลที่น่าสนใจและมีนัยเชิงนโยบายหลายประเด็น มีอยู่ 3 ประเด็นได้แก่ (1) นักเรียนไทยในกลุ่มทดลอง (Experimental Group) ที่ครูได้รับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญจาก OECD และใช้เครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์จาก OECD เป็นเวลา 1 เทอม เมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่ มีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้นอย่างมีนัยทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (Control Group) โดยทักษะที่นักเรียนไทยมีพัฒนาการสูงสุดคือทักษะความคิดสร้างสรรค์แบบอเนกนัย (Divergent Thinking) ในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ โดยบางชั้นเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนขยายโอกาสสังกัด สพฐ. มีระดับของพัฒนาการของทักษะดังกล่าวสูงที่สุดในบรรดา 11 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการกับ OECD (2) ปัจจัยสำคัญที่สามารถอธิบายความแตกต่างในระดับพัฒนาการของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการในกลุ่มทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือปัจจัยด้านความสัมพันธ์และทัศนคติระหว่างครู นักเรียน และผู้บริหารสถานศึกษาต่อการพัฒนาทักษาความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ กล่าวคือ เมื่อกำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ คงที่แล้ว ผู้เรียนในกลุ่มทดลองจะมีพัฒนาด้านทักษาความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้นเมื่อ 2.1 ครูมีความรู้ความเข้าใจในศักยภาพและข้อจำกัดของผู้เรียนในชั้นเรียนเป็นรายบุคคล

2.2 ครูใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ High Functioning Classroom จากการอบรมของ OECD ที่เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ในการพัฒนาทักษะผู้เรียนผ่านการฝึกปฎิบัติและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง 2.3 ครูใช้กระบวนการประเมินตามสภาพจริง (Formative Assessment) ของ OECD มาปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในชั้นเรียนของตนเองอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดเทอม รวมทั้งมีความตั้งใจที่จะใช้ต่อไปในปีการศึกษาหน้า 2.4 ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นใน ความสามารถในการสอนทักษะความคิดสร้างสรรค์ของครู และทัศนคติของครูที่มีต่อผู้เรียนว่าตัวผู้เรียนสามารถพัฒนาได้จริง และ 2.5 ผู้บริหารสถานศึกษาให้การสนับสนุนการทำงานของครูในโครงการ และมีความตั้งใจที่จะใช้เครื่องมือนี้ต่อในปีการศึกษาหน้า

นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ของ OECD พบว่านักเรียนที่มีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ที่สูงขึ้น หลังการทดลอง มีแนวโน้มที่จะมีปฏิสัมพันธ์ด้านการศึกษากับผู้ปกครองที่ดีขึ้นผ่านการพูดคุยเกี่ยวกับการเรียนที่โรงเรียน และหนังสืออ่านนอกเวลาเรียนมากขึ้น และความสำเร็จในการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ระหว่างครูและผู้เรียนข้างต้นเกิดขึ้นกับทั้งนักเรียนในระดับประถมศึกษาที่มาจากครอบครัวที่รายได้ปกติและครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่ผลดังกล่าวมีระดับที่ลดลงในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนขยายโอกาส

“จึงอาจสรุปจากผลการวิจัยเบื้องต้นนี้ได้ว่าครูและนักเรียนไทยที่เข้าร่วมโครงการวิจัยกับ OECD และ 11 ประเทศเป็นเวลา 3 ปีได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนไทยในโรงเรียนขยายโอกาสซึ่งเป็นกลุ่มที่มักได้คะแนน PISA เฉลี่ยต่ำที่สุดแทบทุกครั้งที่มีการจัดสอบ สามารถพัฒนาได้จริงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติไม่แพ้ประเทศอื่นๆจากทั่วโลก รวมถึงนักเรียน “ช้างเผือก” (จากผลการสอบ PISA ครั้งล่าสุด นักเรียนที่มีเศรษฐสถานะต่ำทีสุดร้อยละ 25 ของประเทศ แต่ทำคะแนน PISA ได้อยู่ในกลุ่มคะแนนสูงสุดร้อยละ 25 ของโลก ซึ่งอยู่ในสัดส่วนราวร้อยละ 3 ในกลุ่มตัวอย่างของประเทศไทย)

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษามีความเข้าใจเชื่อมั่นในศักยภาพของกันและกัน กล้าที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน และมีเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันเป็นรายบุคคลผ่านการใช้เครื่องมือการประเมินผลตามสภาพจริง (Formative Assessment) ข้อค้นพบนี้มีนัยเชิงนโยบายที่สำคัญทั้งต่อการปฏิรูประบบการศึกษาในมิติคุณภาพ และมิติความเสมอภาคต่อผู้เรียนทุกคนในระบบการศึกษา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้วระบบการศึกษาไทยสามารถผลิตนักเรียนบางกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้สูงไม่แพ้ใครในโลก ทั้งนักเรียนที่มาจากครอบครัวทั่วไป หรือนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน โดยปัจจุบัน สพฐ. และ กสศ. กำลังวางแผนร่วมกันในการขยายผลจากการวิจัยร่วมกับ OECD นี้สู่สถานศึกษาอีก 400 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 3 จังหวัด (สตูล ระยอง ศรีสะเกษ) เพื่อเป็นกลไกในการขยายผลการดำเนินงานในระดับประเทศต่อไป” ดร.ไกรยส กล่าว

Dr.Stephan Vincent-Lancrin ผู้อำนวยการโครงการวิจัย Fostering Creative and Critical Thinking Skills in Education องค์การ OECD กล่าวว่า ความสำเร็จจากผลการวิจัยในโครงการนี้ทำให้องค์การ OECD และประเทศสมาชิกมีความมั่นใจมากขึ้นว่าทักษะความคิดสร้างสรรค์สามารถพัฒนาได้ภายใต้ความหลากหลายของระบบการศึกษาและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ คณะกรรมการบริหารโครงการ PISA จึงมีมติให้มีการเพิ่มการสอบ PISA ด้านความคิดสร้างสรรค์ในการสอบ PISA ครั้งถัดไปในปี 2021 นี้ โดยองค์การ OECD จะดำเนินการเผยแพร่องค์ความรู้และเครื่องมือที่ได้จากโครงการวิจัยนี้ให้แก่ทุกประเทศที่สนใจจะนำไปใช้สนับสนุนการปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาต่อไปหลังการแถลงผลรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ องค์การ OECD มีกำหนดจัดประชุมสัมมนาและแถลงข่าวผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์ของโครงการนี้อย่างเป็นทางการ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรในสิ้นเดือนกันยายน 2562 นี้ ซึ่งจะมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล นักการศึกษาชั้นนำ และผู้บริหารภาคเอกชนระดับโลกเข้าร่วมมากกว่า 100 คนจากหลายสิบประเทศ มาร่วมกันเสวนาผลการวิจัยและนัยเชิงนโยบายต่อระบบการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ