ศปถ.-สสส.-กปถ.-ศวปถ. ผนึกภาคี เปิดเวทีถกระดับชาติ ลดเจ็บ-ตายบนถนน พบสถิติน่าตกใจ 6 ปีประชากรกลุ่มเปราะบางตายมากสุด
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ตลอดจนภาคีเครือข่าย จัดสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ "เดิน ขี่ ขับ ไปกลับ ปลอดภัย" (Play your part and share the road) ที่ไบเทค บางนา
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงาน กล่าวว่า โดยภาพรวมทุกประเทศทั่วโลก ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ คนเดินถนน และผู้ใช้จักรยาน เสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 49 ซึ่งไทยมีสัดส่วนเสียชีวิตสูงกว่าทั่วโลกเกือบ 2 เท่า ถ้านับเฉพาะอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มรถจักรยานยนต์ จะสูงถึง 24.3 ต่อประชากรแสนคน มากเป็นอันดับ 1 ของโลก รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากแต่ละปีคนไทยกว่า 20,000 คนต้องเสียชีวิต และมีผู้พิการรายใหม่อีกกว่า 6,000 ราย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี ที่ผ่านมารัฐบาลได้ร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาตามแนวทาง 5 เสาหลักที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ใน "ทศวรรษความปลอดภัยทางถนน" พ.ศ.2554-2563 (Decade of Action for Road Safety 2011-2020) อีกทั้งยังนำเรื่องความปลอดภัยทางถนนมากำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวว่า ตัวเลขจากการบูรณาการข้อมูลสถานการณ์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยระหว่างปี 2554-2560 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 80-85 เป็นกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีความเปราะบาง ได้แก่ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เสียชีวิตมากที่สุดถึง 46,656 คน คนเดินเท้า 5,375 คน และผู้ใช้รถจักรยานอีกกว่า 659 คน สะท้อนให้เห็นว่า คนมีความเปราะบางและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
ทั้งนี้ แต่ข้อเท็จจริงคือคนสามารถผิดพลาดได้ (human make error) แต่ไม่ควรมีใครต้องบาดเจ็บจนนำไปสู่การเสียชีวิต ประเทศไทยต้องการระบบความปลอดภัย (safe system approach) เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น การจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ช่วยเปิดโอกาสให้คณะทำงานทั้งส่วนกลางและพื้นที่ ได้นำความรู้ แนวทาง และรูปแบบการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ไปเผยแพร่และปฏิบัติให้เหมาะสมกับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. เข้ามาร่วมขบวนขับเคลื่อนงานป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนให้กับคนไทยมาเป็นเวลา 16 ปีแล้ว โดยร่วมสานภาคีเครือข่ายให้เกิดการขับเคลื่อนการจัดการระบบข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูล หาทิศทางการทำงานที่มีประสิทธิภาพตรงจุด ยกตัวอย่างความสำเร็จเช่นในช่วงเทศกาลปีใหม่-สงกรานต์ “7 วันอันตราย” มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยที่ 300-400 คน ซึ่งถือว่า เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าช่วงสัปดาห์ปกติบางสัปดาห์ด้วยซ้ำ ทั้งที่มีปริมาณรถที่เดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก และเทียบกับเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วการตายช่วงเทศกาลจะอยู่ที่กว่า 800 คน ปัจจุบัน 300 กว่า ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า การทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวได้ผลไม่น้อยหากทุกส่วนทำงานอย่างเข้มข้นตลอดทั้งปี จะสามารถลดการเสียชีวิตให้น้อยกว่าปกติได้ ก้าวต่อไปนั้น
อย่างไรก็ตาม สสส. จะสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุด พร้อมกับสนับสนุนให้นำงานวิชาการมาปรับใช้ให้ได้จริง โดยส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีในการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมสร้างความท้าท้ายด้วยการเชิญชวนให้ชุมชนมีบทบาทร่วมทำงาน“ตำบลรวมพลัง” ตั้งเป้าลดตายจากอุบัติเหตุตำบลละ 1 คน หากทำได้ก็จะลดการตาย 7,000 คนต่อปี ซึ่งจะทำให้สถิติโลกที่เราครองอันดับต้นๆ อยู่ก็จะลดตามไปด้วย
นอกจากนั้น ในพิธีเปิดสัมมนาฯ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เผยข้อมูลอุบัติเหตุบนถนนเด็กไทยในปี 2560 พบเด็กและเยาวชนอายุ 15-19 ปี เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 2,609 ราย เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีที่แล้ว คิดเป็นร้อยละ 30 และเด็กที่มีอายุ 10-14 ปี เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนน จำนาน 727 ราย เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีที่แล้ว คิดเป็นร้อยละ 38 จึงจัดทำข้อเสนอให้รัฐบาลบรรจุ "วาระเรื่องความปลอดภัยทางถนนของเด็กและเยาวชน" ไว้ในแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน