THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

06 สิงหาคม 2562 : 21:14 น.

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เผยผลวิจัยทักษะแรงงานในอนาคต คาด2050 AI แทนที่เต็มระบบ เก่งกว่ามนุษย์ 1000 เท่า แนะยกระดับบัณฑิต บริหารจัดการข้อมูล คิดตรรกะ เชิงปรัชญา ยอมรับความล้มเหลว เตรียมคนสู่โลกอนาคต

นายพณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบัน DPU X แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวถึงการศึกษาวิจัยเรื่อง ทักษะแรงงานในอนาคตของไทย (Skill Set for Future workforce in Thailand) ว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกในอนาคต ที่การพัฒนาเทคโนโลยีจะก้าวไปอย่างรวดเร็ว และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จึงมีการตั้งคำถามว่าในอนาคตควรที่จะผลิตบัณฑิตในรูปแบบใดออกมา ซึ่งการที่จะสามารถวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ เราจำเป็นที่จะต้องรู้หน้าตาของตลาดแรงงานใน 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อที่จะผลิตคนให้สอดรับกับโลกในอนาคต โดยการทำงานวิจัยชิ้นนี้เริ่มจากการอ่านงานวิจัยจากทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานโลก

อย่างไรก็ตาม พบว่า หลายประเทศมีภาพที่คล้ายๆ กัน แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ก่อนปี 2030 ที่จะต้องมีการถ่ายทอดข้อมูลให้กับระบบ AI ให้เก่ง 2.ปี 2030-2050 มีการนำระบบ AI ทำงานบางประเภทแทนมนุษย์ได้ มนุษย์ต้องทำงานร่วมกับ AI และ 3.หลัง ปี 2050 เป็นต้นไป คือ ระบบ AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ เพราะเก่งกว่ามนุษย์ 1000เท่า ซึ่งจะทำให้ชุดทักษะของมนุษย์ต้องเปลี่ยนไป

นายพณชิต กล่าวว่า ทำให้เราต้องกลับมานั่งคิดว่าเราจะต้องสอนอะไร จากผลการวิจัยพบว่า ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ ปี 2020-2029 ทักษะที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ ได้แก่ การออกแบบแนวคิด หรือความคิด การเปลี่ยนแปลงแนวคิดที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การใช้เทคโนโลยีแบบโมบาย การทำงานร่วมมือกันเป็นทีม โดยไม่จำเป็นต้องทำงานในที่เดียวกัน รวมทั้งจะต้องเตรียมพร้อมมนุษย์ในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่

สำหรับ ช่วงที่ 2 ปี 2030-2049 แม้มนุษย์ต้องทำงานไปด้วยกันกับ AI แต่ก็ต้องเน้นการใช้ทักษะคิดวิเคราะห์ การสร้างมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการ และช่วงที่ 3 ปี 2050-2060 แรงงานมนุษย์ต้องมีชุดทักษะ เพื่อการใช้ชีวิตที่มี AI ทำงานแทนคน เช่น การทำงานร่วมกันแบบเสมือนที่มีการใช้การเขียนโปรแกรมและการเป็นที่ปรึกษาเป็นหลัก มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น

“ผมเชื่อว่างานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นตัวช่วยให้แต่ละคณะของมหาวิทยาลัย สามารถนำเป็นฐานและต่อยอดงานวิจัยได้ว่า ควรปรับตัวอย่างไร แต่ในภาพรวมของประเทศส่วนตัวผมคิดว่าจำเป็นต้องมีการตระหนักเรื่องนี้อีกมาก แต่เท่าที่ผมทราบกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็มีความพยายามที่จะขับเคลื่อนในเรื่องเหล่านี้ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในโลกอนาคต คือการกล้าเสี่ยง ความประเมินความเสี่ยง และรับความผิดพลาดในการเสี่ยงได้หรือไม่"ผอ.สถาบัน DPU X กล่าว

นอกจากนั้น หากเราก้าวข้ามเรื่องนี้ได้จะทำให้ประเทศกว่าไปสู่การพัฒนา ผมคิดว่าเรายังขาดทักษะในการผิดพลาด ผิดพลาดอย่างไรให้ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด อย่างไรก็ตาม ปีหน้าเรามีแผนว่าจะทำงานวิจัยมากขึ้นในแง่มุมของภาพใหญ่ ถ้าเรามองย้อนว่าอีก 30 ปี มนุษย์ตกงานแน่นอน เด็กที่เกิดขึ้นในวันนี้ที่จะตื่นมาแล้วไม่มีงานทำเราควรจะมีแผนในการพัฒนาวิธีคิดเขาอย่างไร ดังนั้นงานวิจัยต่อไปของเราจะมุ่งไปในทิศทางนี้ เพื่อที่จะต้องตั้งคำถามย้อนกลับมา เป็นการวางแผนการศึกษาของประเทศได้ อีกทั้งถ้ามหาวิทยาลัยเองยังไม่ปรับตัว สอนแต่ความรู้ก็ไม่ต่างจากนักแปลข้อมูล ซึ่งในส่วนของ มธบ.ได้มีการนำร่องในสร้างเด็กยุคใหม่ให้มีทักษะทันต่อโลกอนาคตแล้ว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ