THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

18 กรกฎาคม 2562 : 08:17 น.

สวช.สนับหนุนงบให้คณะเภสัชศาสตร์ 4 สถาบันร่วมวิจัยทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อยกระดับความมั่นคงด้านวัคซีน

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) เปิดเผยว่า ประชากรในประเทศไทยประมาณร้อยละ 3 มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus) อยู่ในร่างกายซึ่งผู้ที่มีเชื้อไวรัสนี้ สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ และเมื่อเข้าสู่สภาวะของโรคก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับตามมาในที่สุด แต่หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine) ในเด็กแรกเกิดทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2535 ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคตับอักเสบบีและมะเร็งตับของไทยลดลงอย่างมาก โดยปัจจุบันวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขนั้น จัดอยู่ในรูปแบบวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ (DTP-HB-Hib)

นพ.นคร กล่าวว่า ทางการแพทย์พบว่าไวรัสตับอักเสบที่ก่อให้เกิดโรคในคนมีหลายชนิด ได้แก่ ชนิดเอ บี ซี ดี และอี ปัจจุบันคงมีเพียงไวรัสชนิดเอและบีเท่านั้นที่มีวัคซีนป้องกันโรคได้ ส่วนชนิดอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยและทดสอบทางคลินิก ที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับคณะเภสัชศาสตร์ 4 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกันวิจัยเพื่อประเมินทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อยกระดับความมั่นคงด้านวัคซีนสำหรับวัคซีน 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และไวรัสตับอักเสบบี (DTP-HB) และวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live attenuated-JE) สำหรับประเทศไทย

“ผลวิจัยได้มีข้อสรุปทั้งความเป็นไปทางการเงินและความคุ้มค่าของการผลิตวัคซีนในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ อีกทั้งทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการจัดหาวัคซีนเพื่อใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศโดยพิจารณาถึงปัจจัยความมั่นคงทางด้านวัคซีนของประเทศร่วมด้วย โดยภาครัฐควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ผ่านทางด้านการเงิน การให้แรงจูงใจทางด้านภาษี การสนับสนุนผ่านการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตในประเทศก่อน รวมถึงการจัดการให้กฎระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมีความสอดคล้องกัน ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยจะมีวัคซีนพื้นฐานที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลไว้ใช้ทั้งในภาวะจำเป็นและฉุกเฉินในอนาคต” นพ.นครกล่าว

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า นอกจากผลทางด้านความมั่นคงทางด้านวัคซีนแล้ว ผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ภาครัฐจะได้รับจากการสนับสนุนข้างต้น คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงเช่น อุตสาหกรรมชีววัตถุ โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิต การสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การทำการวิจัยทางคลินิก การขึ้นทะเบียน การประเมินความคุ้มค่า การตลาด เป็นต้น

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ