THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

05 เมษายน 2562 : 12:16 น.

เครือข่ายเยาวชนและผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดช่วงสงกรานต์เข้าพบอธิบดีสถ. ขอความร่วมมือกำชับท้องถิ่นคุมเล่นสงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์  

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับซินดี้ สิรินยา บิชอพ แกนนำเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายชุมชนลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและครอบครัว เขตกทม. รวมถึงกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการลวนลามคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์ กว่า 50 คน เข้าพบและยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการป้องกัน แก้ไขปัญหาการลวนลามทางเพศ และปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ ณ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

นายจะเด็จ กล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ปี 60 ได้สำรวจความคิดเห็นผู้หญิงอายุระหว่าง 10-40 ปี จำนวน 1,650 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง หรือร้อยละ 59.3 เคยถูกฉวยโอกาสถูกลวนลามคุกคามทางเพศ โดยส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุมักอยู่ในอาการมึนเมา รวมถึงพบพฤติกรรมของคนบางกลุ่มที่สร้างความเสียหายและก่อให้เกิดค่านิยมที่ผิดๆ ทางเครือข่ายฯ จึงอยากขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มาร่วมให้ความสำคัญกับการป้องกัน แก้ไขปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศ และปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การเฝ้าระวังปัญหาการคุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำช่วงสงกรานต์ การเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ว่าการคุกคามทางเพศเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และการเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

ด้าน นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมฯ ยินดีจะร่วมสนับสนุน และรณรงค์ให้เทศกาลปีใหม่ไทย หรือเทศกาลสงกรานต์ เป็นเทศกาลแห่งความสุขของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งในเรื่องของมาตรการดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน หรือนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น กรมฯ ได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำหนดแนวทางในการตรวจตรา ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัย ให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ พิจารณาจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับเล่นน้ำสงกรานต์ที่มี ความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (Zoning) และสถานที่จัดงานเฉลิมฉลอง รื่นเริงทุกแห่ง เพื่อป้องปรามการกระทำความผิดตามกฎหมาย สร้างความมั่นใจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ และให้กำชับประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ร้านค้าตามข้างทาง และในสถานที่ที่กฎหมายกำหนด ให้ได้ทราบถึงความผิดโทษของการทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

ทั้งนี้ รวมถึงการห้ามจำหน่ายให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และในเวลาห้ามจำหน่าย และขอความร่วมมือผู้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่ให้งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณจัดงาน และยังให้รณรงค์ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวแต่งกายให้เหมาะสม ไม่ล่อแหลมต่อการถูกคุกคามทางเพศ กำชับให้มีการจัดเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ตรวจตราดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ต หรือหอพักให้เข้มงวดในการรับผู้เข้าพักโดยเฉพาะผู้เข้าพักที่เป็นเยาวชน เพื่อป้องกันการมั่วสุมของกลุ่มเยาวชน ส่วนในจังหวัดที่มีพรหมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็ให้พิจารณาหามาตรการหรือแนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นพิเศษตามความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วยเช่นกัน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางด้านการป้องกันและลดความสูญเสียจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น กรมฯ ก็ให้ อปท. สนับสนุนและร่วมดำเนินการในด้านต่างๆ โดยให้ประสานการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดและศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ เพื่อบูรณาการแผนปฏิบัติการและสนับสนุนอัตรากำลัง ภารกิจ งบประมาณ และการรณรงค์ต่างๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายการดำเนินการ (จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ) และการตั้งจุดตรวจร่วม/ด่านตรวจร่วมบนเส้นทางสายหลัก (ทางหลวงแผ่นดิน) ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานของจังหวัดและอำเภอ และประสานกับสถานีตำรวจและหน่วยทหารในพื้นที่ เพื่อบูรณาการการตั้งจุดตรวจ/จุดบริการประชาชน/ด่านชุมชน และการจัดชุดสายตรวจสุ่มตรวจตามเส้นทางสายหลัก (ทางหลวงแผ่นดิน) สายรอง (ทางหลวงชนบท/ถนนของ อปท. และหน่วยงานอื่น) และในสถานที่ชุมชนหรือหน้าสถานบันเทิง

สำหรับ ด้านการใช้มาตรการควบคุมทางสังคมและชุมชนนั้น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) อาสาสมัครทางหลวงชนบท (อส.ทช.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตำรวจบ้าน ทหาร และประชาชนในพื้นที่บูรณาการจัดตั้ง “ด่านชุมชน” เพื่อสกัดกลุ่มเสี่ยงและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนนของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว เช่น การจัดทำ “ประชาคมชุมชน/หมู่บ้าน” กำหนดข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางถนนให้ประชาชนถือปฏิบัติ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง และพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ การจัดกิจกรรมทางศาสนา “1 อำเภอ 1 กิจกรรม” เช่น ทำบุญตักบาตร หรือกิจกรรมตามแต่ละศาสนา การจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาซึ่งมาจากสมาชิกของชุมชนเพื่อสอดส่องเฝ้าระวังผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีพฤติกรรมเมาแล้วขับ พฤติกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงหรืออุบัติเหตุ และร่วมรณรงค์ให้คนในหมู่บ้านตนเองตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎจราจร และรักษาวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด

อีกทั้ง ขอความร่วมมือผู้นำในพื้นที่ เช่น นายอำเภอ นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์โดยใช้รูปแบบ “เคาะประตูบ้าน” เพื่อสร้างความตื่นตัวให้แก่ประชาชนในการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งใช้กลไก “สถาบันครอบครัว” เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงโดยให้สมาชิกในครอบครัวคอยตักเตือน และเฝ้าระวังคนในครอบครัวของตนเอง เพื่อป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า อปท. ทุกแห่งจะต้องร่วมกันลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนด้วย โดยการกำหนดมาตรการแนวทางในการแก้ไข ป้องกันปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟให้มีความปลอดภัยในการสัญจร หากบริเวณจุดตัดรถไฟใดเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุขอให้จัดทำป้ายหยุด ป้ายเตือน ป้ายสัญลักษณ์รูปรถไฟ รวมทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์ในระยะทางก่อนเข้าถึงจุดตัดทางรถไฟ เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ระมัดระวังการขับขี่ยิ่งขึ้นและสามารถมองเห็นรถไฟได้จากระยะไกล จัดให้มีถนนปลอดภัยในพื้นที่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง กวดขันและสร้างวินัยจราจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างน้อย 1 สาย ตามมาตรการถนนปลอดภัย “1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย” และสำรวจถนน และตรวจสอบลักษณะกายภาพของถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และจุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ และดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมให้มีความปลอดภัย โดยให้มีการดำเนินการจัดทำป้ายเตือน ป้ายสัญลักษณ์ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนสังเกตเห็นได้ชัดเจน

สำหรับ อปท. ที่มีพื้นที่หรือแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ก็ให้มีการกำหนดมาตรการ แนวทางการดูแลความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติภัยต่างๆ รวมทั้ง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความปลอดภัยของโป๊ะเทียบเรือ แพ อุปกรณ์ชูชีพ ป้ายบอกจำนวนผู้โดยสาร หรือห่วงชูชีพ เพื่อให้มีความพร้อมช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ มีการจัดเตรียมความพร้อมของหน่วยกู้ชีพ กู้ภัย เครื่องมือพาหนะ และวัสดุอุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ และควรมีการฝึกอบรมหน่วยกู้ชีพให้พร้อม ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ณ จุดเกิดเหตุของแต่ละพื้นที่ด้วย

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ