ศธ.จัดโครงการครูพิเศษอาชีวศึกษาอุตสาหกรรม 4.0 แนวทางการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า โครงการครูพิเศษอาชีวศึกษาอุตสาหกรรม 4.0 นับเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนแนวทางตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีความสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ.2561-2580 ที่ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ดำเนินการโดยการยกระดับสถาบันการศึกษา ในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ สู่ความเป็นเลิศ โดยเฉพาะสาขาวิชาชีพ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเรามีหน่วยงานหลักอย่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นผู้กำกับดูแล ที่จะมีส่วนช่วยในการผลักดันให้การพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ครูผู้สอนเป็นถือเป็นหัวใจหลักของกระบวนการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ซึ่งครูพิเศษจากสถานประกอบการเป็นอีกส่วนสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในการเสริมทัพครูอาชีวศึกษาที่มีอยู่ในระยะเร่งด่วน เพื่อรองรับกับความต้องการที่ตรงกับบริบทพื้นที่และตรงตามทิศทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับจากที่มีโครงการความร่วมมือกับผู้บริหารสถานประกอบการทั่วประเทศ ในการส่งอาสาสมัคร “ครูพิเศษ” เพื่อเสริมทัพครูอาชีวศึกษาที่มีอยู่ ในสาขาเร่งด่วน รวมทั้งสาขาที่ต้องการพิเศษ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า อาทิ ครูพิเศษใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย EEC และอุตสาหกรรม 4.0 หรือด้านภาษา กฎหมาย การลงทุน ระบบบัญชี การเงิน การจัดการ ทรัพยากรมนุษย์ การตลาด และการขาย เพื่อที่จะเข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพพร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถของครูผู้สอนไปพร้อมกัน ซึ่งหมายรวมไปถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความเหมาะสม ทันสมัยเพื่อการพัฒนากำลังคนด้านการศึกษาสายวิชาชีพอย่างยั่งยืนต่อไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในการเปิดรับสมัครลงทะเบียน ครูพิเศษจำนวนทั้งสิ้น 500 ราย และเริ่มการเรียนการสอนไปแล้ว ในห้วงปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน มีการพัฒนาหลักสูตรที่เป็นนวัตกรรมทางการศึกษา และมีครูพิเศษจากสถานประกอบพื้นที่EEC มาสอนในหลักสูตรช่างซ่อมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม โดยมีการจัดเตรียมแผนกและครุภัณฑ์ในการเรียนการสอนรุ่นแรกที่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี ซึ่งแผนกช่างซ่อมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเปิดรับนักเรียนจำนวน 20 คน สอนในระดับชั้นปวส. โดยทำการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี 1 ปีเรียนกับสถาบันทางการศึกษา และอีก 1 ปีหลังทำการฝึกงานที่สถานประกอบการ ถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาจาก SEC สู่ EEC ทั้งนี้แผนกช่างซ่อมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ได้เปิดการเรียนการสอนภายในปีการศึกษา 2562 จึงนับได้ว่าโครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานด้านนี้อย่างตรงเป้าหมายแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำในภาคการศึกษาของประเทศอีกด้วย