กรมอุทยานฯแจงจับได้แล้วขบวนการลอบล่าเสือโคร่งข้ามชาติ ระบุเป็นขบวนการใหญ่เชื่อมโยงยึดซากเล็บหมี 1,666 ชิ้น จากหมีควาย 84 ตัว ระบุปี 61 จับผู้กระทำผิดได้ 565 คดี ยึดสัตว์ป่าที่มีชีวิตอยู่ 7,318 ตัว เป็นซากสัตว์ป่า 1,521 ซาก
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ (สบอ.) 11 (พิษณุโลก) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีเฟซบุ๊กเพจ Freeland ประเทศไทย โพสต์รูปภาพการจับกุมขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า พร้อมทั้งระบุข้อความว่า ปัจจุบันมีกลุ่มนักล่ามืออาชีพ ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากองค์กรค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ เดินทางเข้ามาล่าสัตว์ในประเทศไทย โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมขบวนการล่าเสือโคร่งได้สำเร็จนั้น เหตุดังกล่าวเป็นกรณีที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนต.ค. 2561
ทั้งนี้ ตำรวจสภ.เมือง จ.พิษณุโลก จับกุมชาวเวียดนาม 2 คน ขณะลักลอบขนซากเสือโคร่งขึ้นรถทัวร์จาก จ.ตาก เดินทางไปที่ จ.หนองคาย เพื่อข้ามฝั่งไปลาวกลับประเทศบ้านเกิด ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินคดีและจับกุมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการจับกุมดังกล่าว พบซากเสือโคร่งเพศผู้ อายุประมาณ 15-20 ปี ยาว 3 เมตร น้ำหนักมากถึง 200 กก. ซึ่งเป็นซากเสือโคร่งที่สมบูรณ์มาก มีการชำแหละแยกชิ้น เนื้อนำไปย่างรมควัน ซากเสือโคร่ง 1 ตัว หากส่งออกไปต่างประเทศได้จะมีมูลค่ามากกว่า 2-3 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเชื่อว่าบางชิ้นส่วนของเสือโคร่งนำไปบดยาเพื่อเป็นยาบำรุงกำลังหรือยาอายุวัฒนะ ซึ่งขบวนการเหล่านี้ยังคงมองหาลู่ทางในการลักลอบสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าของไทย ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับทางตำรวจ ทหาร ในการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่า และขยายผลการจับกุมสืบหาถึงกลุ่มนายทุนต่อไป
ด้าน นายสมศักดิ์ ภูเพ็ชร์ ผอ.ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ทางตำรวจภูธรภาค 1 ได้มีการแถลงการจับกุมผู้ต้องหาในเครือข่ายลักลอบค้าซากสัตว์ป่าข้ามชาติ 4 ราย เป็นชาวไทย 2 คน เวียดนาม 1 คน และลาว 1 คน ซึ่งขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าเป็นขบวนการใหญ่ที่ล้วนเกี่ยวเนื่องด้วยกันทั้งสิ้น อย่างคดีจับซากเสือโคร่งเมื่อเดือน ต.ค. 61 ก็เป็นขบวนการเดียวกันกับผู้ต้องการทั้ง 4 รายนี้ โดยการจับกุมแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สืบขยายผลสืบหานายทุน โดยส่วนใหญ่จะสืบหาจากแหล่งบัญชีของผู้ต้องหาว่าได้รับเงิน หรือมีการสั่งการมาจากใคร
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เครือข่ายลักลอบค้าซากสัตว์ป่าข้ามชาติ มีทั้งคนไทยที่เป็นผู้ชี้ทาง หาที่พักพิงให้คนในประเทศเพื่อนบ้านมาหลบอาศัย ซึ่งการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ถือเป็นเครือข่ายที่ใหญ่มาก พบซากสัตว์ส่วนของเล็บหมี 1,666 ชิ้น คาดว่า เป็นชิ้นส่วนของหมีควาย รวมแล้วไม่น้อยกว่า 84 ตัว และยังพบกะโหลกเสือไม่ทราบพันธุ์ และอายุอีกด้วย ทั้งนี้ของกลางดังกล่าวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 8 ล้านบาท.
สำหรับ สถิติคดีเกี่ยวกับพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ของกรมอุทยานฯ ในปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 60 – 30ก.ย. 61 มีคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่ารวม 565 คดี สัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าที่ตรวจยึดได้ โดยยึดสัตว์ป่าที่มีชีวิตอยู่ได้ 7,318 ตัว เป็นซากสัตว์ป่า 1,521 ซาก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2560 ถือว่า มียอดสถิติที่สูงกว่าเดิม สะท้อนให้เห็นว่าตลาดมืดยังมีความต้องการลักลอบค้าสัตว์ป่าอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมบูรณาการสืบสวนขยายผลติดตามผู้ร่วมขบวนการต่อไป