THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

20 มกราคม 2562 : 10:56 น.

ชมรมแม่บ้านสถ.รุกขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียกรักษ์โลก มองการณ์ไกลนำไปคำนวนคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้ให้ชุมชนในอนาคต

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ)พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) เป็นประธานการประชุมชมรมแม่บ้านสถ. และประธานชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด ประจำปี 2562 โดยมี ผู้บริหารสถ. และกรรมการแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัดจากทุกจังหวัด กว่า 200 คน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวขอบคุณการทำงานของสมาชิกชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยทั่วประเทศ ที่ทำงานอย่างหนัก สำหรับปี 2562 ถือว่าเป็นปีมหามงคลของคนไทย จะมีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค.2562 จึงอยากเชิญชวนร่วมกันทำความดี เพื่อเฉลิมฉลองและแสดงความจงรักภักดีถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวาระนี้ มี 5 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ 1.ตั้งเป้าว่า ทุกครัวเรือนต้องมี “ถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน” 2.ยกระดับคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยการลงไปเยี่ยมเยือน และให้การสนับสนุนในเรื่องต่างๆ

3.โครงการ “1 อปท. 1 ถนน ท้องถิ่นใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดย อปท.และชุมชน ร่วมกันพัฒนา ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมบริเวณถนนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และสวยงาม 4.โครงการ “คืนคลองสวยทั่วไทย สุขใจเที่ยวท้องถิ่น” โดย อปท.และชุมชน ปรับปรุงและพัฒนาคูคลองและพื้นที่บริเวณริมคลองดังกล่าวให้มีภูมิทัศน์ที่สะอาดและสวยงาม ด้วยการปลูกดอกไม้ และ 5.โครงการ "ห้องน้ำท้องถิ่น สะอาดและปลอดภัย" โดยนอกเหนือจากที่ อปท. และชุมชน ร่วมกันพัฒนาห้องน้ำสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบ ยังต้องการเห็นแม่บ้านทุกท่านร่วมกันดูแลห้องน้ำในครัวเรือนให้สะอาด และได้มาตรฐานไปพร้อมกันไปด้วย

นายสุทธิพงษ์ ยังย้ำต่อถึงบทบาทของชมรมแม่บ้านสถ. และชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัดในการสนับสนุนการคัดแยกขยะเศษอาหารในครัวเรือน ตามโครงการถังขยะเปียกรักษ์โลก ว่า เนื่องมาจากปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาขยะของประเทศไทย ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ได้มีมติเพื่อให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ และหนึ่งในหนทางการแก้ไขที่สามารถทำได้ทันที คือ การจัดทำถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกประจำครัวเรือนและชุมชนให้ได้มากที่สุด

" ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้มีดำริให้จัดทำ “ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน” เริ่มจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดและขยายผลไปยังส่วนราชการต่างๆ และกรมฯ ก็ได้สานต่อแนวทางดังกล่าวต่อไปยังสถานศึกษา โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด อปท. และศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน รวมไปถึงครัวเรือนของข้าราชการ ผู้บริหาร อปท. ครัวเรือนสมาชิกสภา อปท. ครัวเรือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และครัวเรือนของประชาชน เพื่อคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน ไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำปุ๋ย สำหรับปลูกพืชชนิดต่างๆ ซึ่งมีเป้าหมายให้ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกให้ครบ 100 % "นายสุทธิพงษ์กล่าว

ด้าน ดร.วันดี ได้ย้ำถึงเป้าหมายกิจกรรมประจำปี 2562 ให้สมาชิกชมรมแม่บ้านฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อน โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการบริหารจัดการขยะเศษอาหาร เพื่อทำเป็นสารบำรุงดิน ผ่านการจัดทำ “ถังขยะเปียกรักษ์โลก” ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายจากการนำสารบำรุงดินที่ได้จากการทำถังขยะเปียกมาใช้ในการปลูกผักสวนครัว หรือประโยชน์ด้านเกษตรอื่นๆ และที่สำคัญช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนในพื้นที่ ในการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้น ทั้งยังสามารถเพิ่มรายได้ทางตรง คือรายได้จากการจำหน่ายสารบำรุงดินอีกด้วย

ทั้งนี้ มีโครงการประกวดผลสำเร็จชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด ในการบริหารจัดการขยะเศษอาหารจากครัวเรือน โดยจะมีการสุ่มตรวจและมอบรางวัลให้กับชมรมแม่บ้านฯ ที่มีการรายงานข้อมูลคนแยกขยะเศษอาหาร และจำนวนถังขยะเปียกที่มากที่สุด และร่วมในกระบวนการถอดบทเรียนเลือกชมรมแม่บ้านฯ ที่มีแนวทางการบริหารจัดการที่ดีที่สุด (Best Practice) โดยร่วมมือกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดมลภาวะที่เป็นพิษต่อสภาวะแวดล้อม (Carbon Credit) ซึ่งที่ผ่านมา สถ.ได้ร่วมกับชมรมแม่บ้านสถ.และชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด และ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ จัดทำโครงการวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการจัดทำถังขยะเปียก ในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยลงพื้นที่ 4 จังหวัด ซึ่งได้แก่ ภาคเหนือ(ลำพูน) ภาคกลาง(ลพบุรี) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(เลย) และภาคใต้(สงขลา) ดำเนินการเก็บตัวอย่างวัดปริมาณขยะจริงของครัวเรือนที่ร่วมโครงการฯ จำนวน 2,400 ครัวเรือน ทั้งยังเก็บตัวอย่างในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนในสังกัด อปท. จำนวน 40 และ 20 แห่งตามลำดับเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยของปริมาณขยะเศษอาหารต่อคน เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของ สถ. ในการลดภาระการจัดการขยะของส่วนรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารปรับปรุงดิน

สำหรับ ในอนาคตนี้ การจัดทำถังขยะอินทรีย์ หรือถังขยะเปียกครัวเรือน สามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการถังขยะเปียกรักษ์โลก และสามารถขึ้นทะเบียนรับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทยตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change :UNFCCC) เพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ซึ่งหากการดำเนินการนี้เกิดผลสำเร็จ ก็จะเป็นการสร้างรายได้ในอนาคตอีกด้วย

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ