พช.จับมือไจก้าติดอาวุธให้ผู้ประกอบการชุมชน ปั้นโครงการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชน หวังให้ได้เรียนรู้และใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายทวีป บุตรโพธิ์ รองอธิบดี พช.นำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมอบรม Knowledge Co-creation Program โครงการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการชุมชน ตามแนวทาง D-HOPE Project โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ณ Kyushu International Center เมืองคิตะ คิวชู จ.ฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดการสร้างทิศทางใหม่ของเศรษฐกิจที่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่องในชุมชน
ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการดังกล่าวเป็นการใช้แนวทาง D-HOPE (Decentralized Hand – On Program Exhibition) สร้างกิจกรรมที่ผู้สนใจจะได้เรียนรู้หรือมีประสบการณ์จากการลงมือทำเอง การดำเนินโครงการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เดือนพ.ย. พ.ศ. 2560 โดยมี การลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง พช. กับ JICA เพื่อดำเนินโครงการเป็นเวลา 4 ปี ใน พื้นที่ดำเนินโครงการ 45 จังหวัด โดยมีเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ให้บริการในพื้นที่ ดำเนินโครงการ เป็นกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับ การดำเนินการตามแนวทาง D-HOPE กำหนดไว้ 5 ขั้นตอน คือ 1.ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ ครั้งที่ 1 เพื่อระบุรายชื่อแชมป์ที่มีศักยภาพ 2.การประชุมเชิงปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ ครั้งที่ 2 เพื่อออกแบบโปรแกรมที่ผู้เข้าร่วมสามารถลงมือทำได้และการทดสอบโปรแกรมฯ ที่ออกแบบมา 3.การประชุมเชิงปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ ครั้งที่ 3 เพื่อจัดทำแค็ตตาล็อก 4.การจัดนิทรรศการ และ 5.การประชุมเชิงปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ ครั้งที่ 4 เพื่อประเมินผลอย่างมีส่วนร่วม
อธิบดีพช.กล่าวว่า ปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา พช.ได้ดำเนินการโครงการ D-HOPE ในพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน นครพนม มุกดาหาร สุรินทร์ ชลบุรี จันทบุรี ระนอง และตรัง โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ในครั้งแรก มีผู้เข้าร่วม 850 ราย และเสนอชื่อผู้ที่มีศักยภาพที่จะเป็นแชมเปี้ยน มากถึง 2,500 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอทอปที่อยู่ในหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี, หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้ดำเนินการมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นบางส่วนของโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจาก JICA จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ การจัดหาทีมงาน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประสานงาน เจ้าหน้าที่โครงการ และผู้ช่วยโครงการฯ การออกแบบและพิมพ์เล่มแค็ตตาล็อก ตลอดจนการประเมินผลโครงการ ที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมากเกิดความรู้ ความเข้าใจแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงพัฒนา เกิดแรงบันดาลใจในการจัดการโปรแกรมที่ให้ผู้เข้าชมสามารถลงมือปฏิบัติด้วยตนเองได้
สำหรับ การดำเนินโครงการ D-HOPE ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ได้ต่อยอดโดยการขยายพื้นที่เป้าหมายใหม่ในอีก 5 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี ราชบุรี สิงห์บุรี พัทลุง และพังงา นอกจากนี้ยังได้บูรณาการกับโครงการ OTOP Village ของสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการใน 23 จังหวัดในจังหวัดภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อค้นหารูปแบบ วิธีการที่เหมาะสมในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เป็นประโยชน์สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ สนองตอบความต้องการของผู้ประกอบการชุมชนได้อย่างแท้จริง ตลอดจนสามารถสร้างกิจกรรมในชุมชนเปิดประสบการณ์ใหม่ให้นักเที่ยวเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมชุมชนได้เกิดความประทับใจ