อธิบดีพช.ชวนตอบแบบสอบถามจปฐ.ที่เป็นจริงเพื่อประโยชน์ต่อตัวเองและครอบครัว
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เปิดกิจกรรม “จปฐ. UPDATE : HAPPINESS FOR ALL 2019”ตามที่คณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช.) มอบหมายให้พช. จัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) 76 จังหวัดเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางให้ส่วนราชการนำไปใช้ประโยชน์ ณ กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
นายนิสิต กล่าวว่า การจัดเก็บข้อมูลจปฐ.ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 29 ปี มีการปรับปรุงข้อคำถามและเครื่องชี้วัด ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุก 5 ปี ข้อมูล จปฐ. เป็นข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ ทันสมัย เพราะจัดเก็บทุกปี และครอบคลุมทุกสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทุก ๆ ด้าน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่จะให้ทุกกระทรวงวิเคราะห์ Big Data ของหน่วยงานเพื่อให้ทราบว่าสิ่งใดสำคัญ สิ่งใดต้องแก้ไข สิ่งใดต้องทำก่อนทำหลัง และสิ่งใดต้องเร่งพัฒนาให้ครอบคลุมทุกมิติ (เศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง)
ทั้งนี้ ข้อมูล จปฐ. จึงเป็นข้อมูลที่ตอบโจทย์ การขับเคลื่อนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ และการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน เห็นได้จากการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลได้ใช้ข้อมูล จปฐ. เป็นฐานในการวิเคราะห์ ในปี พ.ศ.2562 พช.ได้มีการจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนธ.ค. 2561 ถึงเดือน มี.ค. 2562 โดยมีอาสาสมัครลงพื้นที่สอบถามข้อมูลตามครัวเรือนเป้าหมาย จำนวน 12,935,000 ครัวเรือน ดังนั้นถ้ามีเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บข้อมูลขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือด้วย
"จากนี้ไปจนถึงเดือนมี.ค. จะมีอาสาสมัครลงพื้นที่ทั่วประเทศไปเคาะประตูบ้านเพื่อสอบถาม และจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ข้อมูลที่ได้จะไม่กระทบสิทธิ์ใดๆ ตรงกันข้ามจะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านและครอบครัว จึงอยากเชิญชวนประชาชนได้ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา บนหลักคิดที่ว่า “ร่วมพัฒนาประเทศไทย ร่วมให้ข้อมูล จปฐ.ที่เป็นจริง” อธิบดีพช.กล่าว
สำหรับ ปัจจุบันรัฐบาลได้นำข้อมูล จปฐ.กับข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ มายืนยันกันระหว่างคนที่ได้รับการสำรวจว่าจน (survey-based) และคนที่มาลงทะเบียนว่าจน (register-based) นอกจากนี้ข้อมูล จปฐ. ยังเป็นเครื่องมือช่วยชี้เป้า ว่าปัญหาคืออะไร อยู่ตรงไหน ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดและรวดเร็วขึ้น เป็นข้อมูลกลางของประเทศ ที่นำไปยึดถือ ใช้อ้างอิงได้ ทำให้หน่วยงานรัฐโปร่งใส มีธรรมาภิบาล