นายกฯเยี่ยมชาวแหลมตะลุมพุก หลังพายุปาบึกผ่านพ้น พร้อมรับปากรัฐบาลจะดูแลฟื้นฟูอย่างเต็มที่
บิ๊กตู่เยี่ยมผู้ประสบภัยพายุปาบึกนายกฯลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้ประสบภัยพายุปาบึก ให้คำมั่นรัฐบาลจะดูแลฟื้นฟูอย่างเต็มที่
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะได้เยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก ประมาณ 3,000 คน ที่บริเวณเนินตาขำ ต.บางพระ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยมี ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายกฤษฎา บุญราช รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คมนาคม ร่วมคณะด้วย
โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวให้กำลังใจผู้ประสบภัยที่มาต้อนรับว่า รู้สึกดีใจที่ทุกคนยังยิ้ม ยังหัวเราะได้ ขอให้กำลังใจทุกคน ยามนี้ถือว่า กำลังใจที่เข้มแข็งมีความสำคัญที่สุด ขอให้มีความรักสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สำหรับหน่วยงานต่างๆ ได้สั่งการให้สำรวจความเสียหายให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ทั้งทางด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง สิ่งสาธารณประโยชน์ บ้านเรือนที่เสียหายบางส่วนให้ซ่อมแซมทันที คู่ขนานกับการสำรวจ ส่วนบ้านที่เสียหายทั้งหลังจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน โดยรัฐบาลจะรับผิดชอบดูแลอย่างเต็มที่
จากนั้น นายกฯและคณะ เดินทางไปยังโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง เพื่อเยี่ยมผู้ประสบภัยและนักเรียนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ ถือเป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์แห่งแรก และเป็นจุดกำเนิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลังจากที่ได้รับความเสียหาย จากพายุโซนร้อนแฮเรียต เมื่อปี พ.ศ. 2505
ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย นายกฯมีกำหนดเดินทางไปยังหมู่ที่ 1 ต.ปากนคร อ.เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเดินทางถึงได้ตรวจเยี่ยมการซ่อมสร้างบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนปาบึก พร้อมทั้งได้ลงเรือกู้ภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไปยังหมู่ที่ 4 ต.ท่าไร่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัยที่อยู่ริมคลองปากนครด้วย
สำหรับ จ.นครศรีธรรมราช ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนปาบึกเมื่อวันที่ 4 ม.ค. เวลาประมาณ 12.45 น. ส่งผลให้เกิดวาตภัยและอุทกภัยในพื้น 23 อำเภอ 155 ตำบล 1,400 หมู่บ้าน 105 ชุมชน ได้มีการอพยพประชาชนในแนวอำเภอชายฝั่งทะเลทั้งหมด และพื้นที่เสี่ยงภัยรวม 9 อำเภอ 106 จุด ผู้อพยพประมาณ 23,396 คน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 539,847 คน 179,868 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย สถานศึกษาได้รับผลกระทบ 809 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ด้านการเกษตร เกษตรกรประสบภัย 87,507 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 519,454 ไร่ ด้านปศุสัตว์ เกษตรกรประสบภัย 34,360 ราย ปศุสัตว์ 1,197,198 ตัว ด้านประมง พื้นที่ประสบภัย 11 อำเภอ ผู้ประสบภัย 7,301 ครัวเรือน ด้านสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหายจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ