นายกฯประชุมด่วนติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือพายุปาบึก สั่งผู้ว่าฯพื้นที่เสี่ยงภัยดูแลประชาชนให้ดีที่สุด
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. เวลา 16:00 น. ที่ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ประชุมติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือพายุโซนร้อน ปาบึก ผ่านระบบ Video Conference ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงจ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบูรณาการประสานงานกับกองอำนวยการป้องกันสาธารณภัยของทุกเหล่าทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการน้ำ จะได้เร่งติดตามรายงานอย่างใกล้ชิดจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อทุกหน่วยงานจะได้ประเมินความเสี่ยงและเตรียมความพร้อมทั้งด้านข้อมูลและการปฏิบัติ เพื่อลดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนอย่างดีที่สุด
สำหรับ การเตรียมการป้องกันผลกระทบกับประชาชนทางทะเล จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลได้มีการประกาศห้ามเดินเรือ และได้ประสานการทำงานร่วมกับกองทัพเรือในการจัดเตรียมเรือเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยว เช่น จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีเกาะท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ เกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ได้เร่งการขนย้ายนักท่องเที่ยวให้เสร็จภายในค่ำวันนี้
นอกจากนี้ จังหวัดที่จะได้รับผลกระทบในช่วงแรกของพายุดังกล่าว คือ จ.นครศรีธรรมราช บริเวณอ.ปากพนัง อ.ท่าศาลา และอ.สิชล เป็นต้น ก็ได้ดำเนินการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากภัยที่อาจเกิดขึ้น ในด้านการระบายน้ำ ขณะนี้กรมชลประทานรายงานว่า ได้เตรียมการพร่องน้ำบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ไว้แล้ว โดยคำนึงถึงว่าจะต้องมีการสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต่อไป และได้ระดมสรรพอุปกรณ์ในทุกพื้นที่เตรียมความพร้อมสำหรับการระบายน้ำแล้ว
สำหรับ ด้านการดูแลการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าและประปา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เตรียมการเปิดศูนย์อำนวยการช่วยเหลือสนับสนุนกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ และจัดส่งเจ้าที่ประจำในพื้นที่เพื่อแก้ไขกรณีไฟฟ้าดับหรือกรณีจำเป็นต้องดับไฟในบางพื้นที่ ด้านการสาธารณสุข ทุกหน่วยงานในพื้นที่ได้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแล้ว ส่วนด้านการปฏิบัติการสื่อสาร กระทรวงมหาดไทยได้สื่อสารไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์สื่อสาร ทั้งหอกระจายข่าว และหอเตือนภัยต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ได้ประสานกับกองทัพในการส่งเครื่องมือสื่อสารของกองทัพร่วมบูรณาการด้วย
ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมทั้งให้กำลังใจข้าราชการ อาสาสมัคร และผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงาน ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น ขอให้ดูแลประชาชนให้ดีที่สุด และปฏิบัติงานตามแผนป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูให้ดีที่สุด