รัฐจัดที่ดินทำกินรวม1.3 ล้านไร่เป็นของขวัญปีใหม่ ขีดเส้นอยู่ก่อนมติครม.ปี’41
นางรวีวรรณ ภูริเดช ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) แถลงว่า นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน คทช.ได้จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนได้แล้ว 884 พื้นที่ 70 จังหวัด บนเนื้อที่ 1.3 ล้านไร่ โดยปัจจุบันได้ออกหนังสืออนุญาตแล้ว 140 พื้นที่ ใน 57 จังหวัด รวมเนื้อที่ 4 แสนกว่าไร่ และจัดคนลงพื้นที่จำนวน 5.2 หมื่นราย 66,733 แปลง นับว่าดำเนินการไปแล้ว 15% ของพื้นที่เป้าหมาย
นางรวีวรรณ กล่าวว่า ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย จำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3,4,5 ก่อนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 มิ.ย. 2541 กลุ่มที่ 2 ชุมชนในเขตป่าสงวนฯ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3, 4 และ 5 หลังมติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย. 2541 และต้องปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 66/2557 กลุ่มที่ 3 ชุมชนในเขตป่าสงวนฯ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ก่อน มติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย. 2541 และชุมชนในเขตป่าสงวนฯ ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 หลัง มติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย. 2541 กลุ่มที่ 4 ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ก่อนและ หลังมติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย. 2541 และกลุ่มที่ 5 ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน ประกอบด้วย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เมือง และสิ่งก่อสร้างถาวร
นางรวีวรรณ กล่าวว่า แนวทางของ คทช.ไม่ได้ส่งเสริมให้คนเข้ามาอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องการแก้ปัญหาและต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับระบบนิเวศและรักษาป่าเดิมไว้ ซึ่ง คทช.มีความชัดเจนในการจำกัดเนื้อที่ป่าและต้องอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าภายในเงื่อนไขที่รัฐได้กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้คนอยู่ในป่าได้อย่างถูกกฎหมาย เราจึงจำเป็นต้องปลดล็อกกฎหมายบางตัว เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เรื่องพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นต้น ถือเป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจ ไม่ต้องระแวงว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจับกุมฐานบุกรุกป่าอีก
ด้าน นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ดีและควรสนับสนุน เพราะทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน นักอนุรักษ์ และชาวบ้านต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเหมาะสม เพราะคงไม่สามารถย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ป่าได้ แต่จะทำอย่างไรให้อยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนและไม่ทำลายป่า โดยมองว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 5.9 ล้านไร่ ที่นำไปเข้าโครงการเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด 80 ล้านไร่ ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก