ประธาน กสม. เปิดหลักสูตรติวเข้ม รัฐวิสาหกิจไทย ทำธุรกิจไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ ที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจของไทยมีจำนวน 56 แห่ง มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 6 ล้านล้านบาท สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศกว่า 2.7 ล้านล้านบาท และทำกำไรกว่า 2.3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ในรอบหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของไทยเป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะในประเด็นบรรษัทข้ามชาติ ที่มีธุรกิจอันหลากหลาย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเด็นการจ้างงาน สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ดีและสร้างความชัดเจนตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงแนวทางปฏิบัติขององค์กร โดยคำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน และเชื่อมโยงกับแนวคิดอื่น ๆ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและความยั่งยืนในอนาคต
นายวัส กล่าวว่า ขณะที่การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่สวนทางและสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมอาจก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างอย่างร้ายแรงได้เช่นกัน ปัจจุบันยังมีประเด็นที่ท้าทายอีกจำนวนมาก เช่น การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในกลุ่มธุรกิจ SMEs , Supply Chains และภาคประชาชน การคำนึงถึงผลกระทบในพื้นที่ที่มีการพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการเข้าถึงการเยียวยา เป็นต้น
“วิธีการสำคัญที่จะทำให้เกิดความตระหนักในธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน คือ การสร้างการรับรู้ เข้าถึง และเข้าใจ โดยมุ่งเน้นการนำหลักการชี้แนะว่า ด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ตลอดจนการมีแผนปฏิบัติการด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มีการติดตามและประเมินผล รวมทั้งมีเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี เกิดการหนุนเสริมให้มีความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างกัน เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้คำมั่นที่จะไม่ทอดทิ้งบุคคลใดไว้เบื้องหลัง หรือ Leaving no one behind ” ประธานกสม.กล่าว