กฎหมายเงินทดแทนฉบับใหม่คลอดแล้วมีผล 9 ธ.ค. ขยายความคุ้มครองไปลูกจ้างราชการ-มูลนิธิ-สถานทูตนับล้านคน
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน แถลงว่า กฎหมายเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ซึ่งได้ปรับปรุงแก้ไขจากฉบับ พ.ศ. 2537 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจะมีผลบังคับใช้วันที่ 9 ธ.ค. ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ประกันตนให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ลูกจ้างผู้ประกันตนที่มีกว่า 10 ล้านคน และขยายความคุ้มครองไปยังลูกจ้างกลุ่มใหม่กว่า 1 ล้านคน ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้เพิ่มช่องทางการจ่ายเงินของนายจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงขอให้นายจ้างเตรียมตัวมาขึ้นทะเบียนลูกจ้างทั้ง 3 กลุ่ม ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2561 ไปถึงวันที่ 7 ม.ค. 2562 หากไม่มาดำเนินการจะมีโทษปรับตามกฎหมาย
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า กฎหมายเงินทดแทนฉบับใหม่ได้ขยายความคุ้มครองไปยังกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ 1.ลูกจ้างในส่วนราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมี 9.02 แสนคน 2.ลูกจ้างในองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น มูลนิธิ สมาคม ประมาณ 1 แสนคน และ 3.ลูกจ้างขององค์การระหว่างประเทศ อาทิ ลูกจ้างของสถานทูต เดิม 3 กลุ่มนี้ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์มาก่อน เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมจะคุ้มครองเฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ทำงานบริษัทเอกชน แต่ฉบับใหม่กำหนดให้นายจ้างเป็นฝ่ายจ่ายเงินเข้ากองทุนเพียงฝ่ายเดียวไม่เกิน 480 บาท/คน/ปี
สำหรับลูกจ้าง 3 กลุ่มใหม่ จะได้รับสิทธิ 4 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน และแพทย์สั่งให้หยุดงาน จะได้ค่าชดเชยการขาดรายได้จากเดิม 60% เป็น 70% ของค่าจ้างรายเดือน ตั้งแต่วันแรกที่หยุดงาน กรณีทุพพลภาพจากการทำงาน จะได้รับค่าทดแทนการขาดรายได้ไม่น้อยกว่า 15 ปี จากเดิมไม่เกิน 15 ปี กรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานจะได้ค่าชดเชยการขาดรายได้ 70% ของค่าจ้างรายเดือนเป็นเวลา 10 ปี จากเดิม 8 ปี รวมทั้งเพิ่มการจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเท่ากับกองทุนประกันสังคม 4 หมื่นบาท
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาการเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า กฎหมายยังกำหนดให้นายจ้างที่ได้จ้างงานวิธีเหมาค่าแรงจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเงินทดแทนเป็นครั้งแรก ซึ่งปัจจุบันมีการจ้างงานแบบเหมาค่าแรงเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำให้คนเหล่านี้ได้รับสิทธิตามกฎหมายเป็นครั้งแรก