กรมอุทยานฯยังคุมเข้มจำกัดนักท่องเที่ยวทะลักเข้าเที่ยว 10 อุทยานดังทั่วประเทศ ป้องกันความแออัดและสภาพธรรมชาติเสื่อมโทรม
นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ไม่เพียงแต่จำกัดนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวเกาะสิมิลัน จ.พังงา เท่านั้น แต่ยังคงมาตรการจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวอุทยานดัง 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการทะลักเที่ยวช่วงวันหยุดยาวและช่วงฤดูหนาว เพราะทำให้เกิดความแออัดและป้องกันธรรมชาติเสื่อมโทรม โดยมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2550
ทั้งนี้ 10 อุทยานดังกล่าว ได้แก่อุทยานฯ ห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ พักค้างคืนไม่เกิน 1,034 คน/วัน อุทยานฯ ดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ พักค้างคืนไม่เกิน 1,000 คน/วัน เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยผ้าห่มปก เข้าได้ 10 คน/ชุด ระยะห่างแต่ละชุดไม่น้อยกว่า 10 นาที ไม่เกิน 100 คน/วัน อุทยานฯ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ พักค้างคืนได้ไม่เกิน 810 คน/วัน อุทยานฯ ดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ พักค้างคืนไม่เกิน 850 คน/วัน
อุทยานฯ ภูกระดึง จ.เลย พักค้างคืนได้ไม่เกิน 5,300 คน/วัน อุทยานฯเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา พักค้างคืนไม่เกิน 2,600 คน/วัน อุทยานฯ เอราวัณ จ.กาญจนบุรี พักค้างคืนไม่เกิน 742 คน/วัน อุทยานฯ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พักค้างคืนได้ไม่เกิน 1,500 คน/วัน อุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ เที่ยวแบบไป-กลับ 2,065 คน หมุนเวียนแต่ละแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลา พักค้างคืนไม่เกิน 620 คน/วัน และอุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา เดิมกำหนดให้เที่ยวแบบไป-กลับ 1,450 คน หมุนเวียนแต่ละแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลา และพักค้างคืนได้ไม่เกิน 180 คน/วัน
นายทรงธรรม กล่าวอีกว่า กรณีผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน จ.พังงา เข้าร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาลคัดค้านมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในอุทยานฯหมู่เกาะสิมิลันของกรมอุทยานฯ ว่า กรมอุทยานฯ ได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานฯ ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 2550 จากนั้นในปี 2555 กรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับนายธรรมศักดิ์ยีมิน ผู้เชี่ยวชาญนิเวศวิทยาแนวปะการัง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะศึกษาขีดความสามารถการรองรับได้ด้านนันทนาการอุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 2558 ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานประเมินขีดความสามารถในการรองรับการใช้ประโยชน์ด้านนันทนาการ (ด้านกายภาพ) ในพื้นที่อุทยานฯ ทางทะเล จนกระทั่งในช่วงปี 2559-2560 ที่เกิดปัญหานักท่องเที่ยวแออัดอย่างมากในพื้นที่อุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน จึงนำมาสู่การตั้งคณะทำงานประเมินขีดความสามารถในการรองรับและกำหนดมาตรการใช้ประโยชน์ด้านนันทนาการเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2560
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ได้ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาขีดความสามารถในการรองรับการใช้ประโยชน์ของอุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน ที่สำคัญได้จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหลายครั้งตลอดปี 2561 จนได้ข้อสรุปออกประกาศกรมอุทยานฯ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ปิดการพักแรมอุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน และประกาศกรมอุทยานฯ ฉบับวันที่ 9 ต.ค. จำกัดนักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวสิมิลันมานานกว่า 10 ปีแล้ว