THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

21 ตุลาคม 2561 : 16:58 น.

กสศ.ชี้ไทยยังมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงเกือบ 20 เท่า แนะต้องแก้ความเหลื่อมล้ำทั้งรายได้และการศึกษา ถึงจะช่วยเพิ่มดัชนีทุนมนุษย์ไทยได้จริง

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า จากรายงานดัชนีพัฒนาทุนมนุษย์ของเวิลด์แบงก์ หรือ Human Capital Index (HCI) รายงานค่าเฉลี่ยของจำนวนปีการศึกษาของเด็กไทยอยู่ที่ 12.4 ปี แต่มีจำนวนปีของการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอยู่เพียง 8.6 ปี ช่องว่างประมาณ 4 ปีสะท้อนว่า แม้เด็กไทยจะอยู่ในระบบการศึกษานานถึง 12 ปี แต่ไม่ใช่ทุกช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ หากนำไปพิจารณารวมกับดัชนีทุนมนุษย์ของประเทศไทยที่มีค่า 0.6 หมายความว่า โดยเฉลี่ยแล้วเด็กไทยที่เกิดวันนี้ จะมีประสิทธิภาพภาพประมาณ 60% ของศักยภาพสูงสุดของเขา (Full Productivity)เท่านั้น

“ปัจจุบันไทยลงทุนในด้านการศึกษาถึง 6.1% ของจีดีพีประเทศ และสุขภาพ 3.7% ของจีดีพี รวมแล้วลงทุนสูงเกือบ 10% ของจีดีพี ปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณว่าไม่พอ แต่ต้องลงทุนให้ไปถึงปัญหาที่แท้จริง มุ่งจัดสรรทรัพยากรอย่างเสมอภาค และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อขยับดัชนี HCI ให้สูงขึ้น หรือทำให้มีทุนมนุษย์เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต” ดร.ไกรยส กล่าว

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงเกือบ 20 เท่า คือ เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนที่สุด 20% แรกของประเทศ มีโอกาสแค่ 5% เท่านั้นที่จะไปสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ ในขณะที่เด็กที่อยู่ในครอบครัวร่ำรวยที่สุด 20% แรกของประเทศ มีโอกาส 100 % หากประเทศไทยต้องการเติบโตยั่งยืนในอนาคต ต้องปฎิรูปกระบวนการลงทุนในมนุษย์ทั้งด้านสุขภาพและด้านการศึกษาเสียใหม่ เพราะในปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านเราหลายประเทศ มีค่าดัชนีทุนมนุษย์ที่สูงกว่าไทยไปแล้ว เช่น จีน (0.67) เวียดนาม (0.67) และ มาเลเซีย (0.62) ประเทศเหล่านี้สามารถลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ได้มีประสิทธิภาพกว่าไทย ทำให้ในอนาคตจะมีความมั่นคงยั่งยืน และมีแนวโน้มแซงหน้าประเทศไทยได้

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ค่าดัชนี HCI ที่ 0.6 ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยไม่มีคนเก่งที่มีผลิตภาพสูง แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาทุนมนุษย์ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และด้านอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหากหน่วยงานต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ ก็จะส่งผลต่อการเพิ่มค่าดัชนีทุนมนุษย์ให้ดีขึ้นได้ กสศ. เองก็มีมาตรการสนับสนุนที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเพิ่มดัชนีพัฒนาทุนมนุษย์ (HCI)ได้ในอนาคต

“ปัญหาการศึกษาในประเทศไทยเหมือนแฝดสยาม หมายถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคู่กับความเหลื่อมล้ำทางรายได้มีความเกี่ยวเนื่องกัน และต้องแก้ไขควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ เราไม่สามารถพาเด็กที่หลุดออกมานอกระบบการศึกษากลับเข้าโรงเรียนแล้วหวังว่า เขาจะไม่หลุดออกมาอีกได้ หากว่าปัญหาความยากจนและความด้อยโอกาสของเด็กและครอบครัวยังอยู่ ดังนั้นเราต้องแยกปัญหาความยากจนออกมาบรรเทาแก้ไขให้ดีขึ้น มาตรการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาจึงจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” ดร.ไกรยส กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ