สถ.แจง กรณีสั่งห้าม อปท. นำรถฉุกเฉินรับผู้ป่วยกลับบ้าน พร้อมน้อมรับคำแนะนำอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานการใช้งบฯแผ่นดินอย่างคุ้มค่าและเพื่อประโยชน์สุขประชาชน
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยถึงกรณีที่สถ. สั่งห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำรถฉุกเฉินรับผู้ป่วยกลับบ้าน กรมฯ ต้องขอเรียนว่า การดำเนินการของ อปท. ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” คือ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นภยันตรายต่อการดำรงชีวิต หรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการประเมินการจัดการ และการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรือการป่วยนั้น นั่นคือรถฉุกเฉินของอปท.มีวัตถุประสงค์การใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น
ทั้งนี้ หาก อปท. นำรถฉุกเฉินซึ่งมีอยู่เพียงคันเดียวไปให้บริการรับส่งผู้ป่วยตามนัด ซึ่งในปัจจุบันมี อปท. หลายแห่ง ได้ให้บริการรับส่งประชาชนในท้องถิ่นในการเดินทางไปพบแพทย์ตามใบนัดที่กำหนดวันเวลาไว้แล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นกรณีฉุกเฉินแต่อย่างใด และถ้าเกิดมีผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะทำให้ไม่มีรถฉุกเฉินให้บริการ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเสียชีวิตได้ ประกอบกับปัจจุบันได้มี อปท. ถูกหน่วยตรวจสอบทักท้วงและเรียกเงินคืน กรณีนำรถฉุกเฉินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อปท. นำรถฉุกเฉินไปส่งผู้ป่วยฉุกเฉินที่โรงพยาบาลแล้ว ก็ถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจ หาก อปท. จะนำรถฉุกเฉินรับผู้ป่วยอื่นที่อยู่ที่โรงพยาบาลนั้นกลับบ้าน ก็สามารถทำได้ เนื่องจากรถฉุกเฉินของ อปท. จะต้องเดินทางกลับอยู่แล้ว แต่จะต้องไม่ใช่กรณีอยู่พักรักษาตัวจนหายป่วยสามารถกลับบ้านได้แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงจัดรถไปรับกลับบ้าน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า อีกกรณีหนึ่งคือ กรณีที่ผู้ป่วยนั้นเป็นผู้ที่ยากไร้ หรือผู้ป่วยติดเตียง อปท. ก็สามารถให้การช่วยเหลือได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 โดยผู้ป่วยที่ยากไร้สามารถขอรับการสงเคราะห์จาก อปท. ในการเดินทางไปโรงพยาบาลตามใบนัดของแพทย์ ซึ่ง อปท. ก็สามารถให้ความช่วยเหลือในการรับส่งผู้ป่วยดังกล่าวได้ด้วย
"ขอยืนยันว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ซึ่งหากท่านใดมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจขอให้สอบถามท้องถิ่นอำเภอหรือท้องถิ่นจังหวัดก่อนได้ ดีกว่าไปด่วนสรุปโดยไม่รู้สาเหตุ อย่างไรก็ตามเราก็น้อมรับเสียงติติงหรือคำแนะนำอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่าและเป็นไปตามกฎระเบียบทางราชการ ตลอดจนการใช้งบประมาณในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของคนไทยอย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน" อธิบดีสถ.กล่าว