องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 8 กันยายนของทุกปี เป็น “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ”
เพื่อให้สังคมโลกตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการรู้หนังสือและประเด็นปัญหาต่างๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับการไม่รู้หนังสือ
นาวสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรีนนรู้ กล่าวว่า “การรู้หนังสือ ถือเป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ส่งเสริมพื้นฐานการใช้ชีวิตที่ดี รวมถึงทักษะต่างๆ ในการใช้ชีวิต ปัจจุบันการรู้หนังสือไม่ใช่วัตถุประสงค์เพียงแค่อ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการรู้เท่าทัน การคิดวิเคราะห์ และพิจารณา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารต่างหลั่งไหลมาจากทุกทิศทุกทาง มีความซับซ้อน คลุมเครือ ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ดังนั้น ภูมิคุ้มกันในการรับรู้และวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิและเสรีภาพของกันและกัน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน”
ที่มาของวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ
ในปี พ.ศ. 2509 ยูเนสโกได้ประกาศให้วันที่ 8 กันยายนของทุกปี เป็น “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ตามมติข้อเสนอจากเวทีการประชุมรัฐมนตรีศึกษาโลก เรื่อง “การขจัดการไม่รู้หนังสือ” ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ระหว่างวันที่ 8-19 กันยายน พ.ศ. 2508
ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกยูเนสโก โดยกองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้ร่วมจัดกิจกรรมและพิธีเฉลิมฉลองงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2510 และจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
“วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” เป็นโอกาสในการร่วมแรงร่วมใจเพื่อเร่งให้เกิดความก้าวหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนสะท้อนให้เห็นบทบาทของการรู้หนังสือในการสร้างสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม และยั่งยืนอย่างครอบคลุม การรู้หนังสือมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาด้านอื่นๆ อย่างชัดเจน กล่าวคือ การรู้หนังสือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสังคมดังกล่าวข้างต้น ขณะที่ความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านอื่นๆ มีส่วนช่วยในการสร้างความสนใจและแรงจูงใจของประชาชนที่จะได้รับและพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็นต่อไป
การกดขี่รูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21
บริบทในยุคเริ่มต้นของการเฉลิมฉลองวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือคือ ยังมีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่มีทักษะอ่านออกเขียนได้ ซึ่งจะนำไปสู่การกดขี่และการเอาเปรียบทั้งปวง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิ การอ่านเอกสารราชการหรือฉลากยาไม่เข้าใจ การเสียโอกาสจากการถูกหลอกเพราะความไม่รู้หนังสือ ปัจจุบัน ประชาชนคนไทยเกือบทั้งประเทศสามารถอ่านออกเขียนได้หรือรู้หนังสือในวงกว้าง ทักษะการอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็นจึงไม่ได้เป็นปัญหาสังคมหลักในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม บริบทของประเทศไทยในขณะนี้มีความเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ โดยใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร โดยเฉพาะบริบททางการเมืองที่เกิดกระแสเรียกร้องสิทธิมนุษยชนควบคู่กับคลื่นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่แผ่ขยายเป็นวงกว้างเข้ามาในสังคมไทย ผลกระทบในเชิงลบที่ตามมาคือ การสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคมระหว่างมวลชนที่มีความนิยมและความคิดเห็นแตกต่างกัน เนื่องจากประชาชนทุกคนสามารถเป็นเจ้าของสื่อและผู้ผลิตสื่อได้ด้วยตนเองโดยปราศจากการควบคุมในหลายมิติ
นอกจากนี้ ประเด็นด้านการรู้หนังสือที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนารูปแบบและวิธีการเรียนรู้อย่างหลากหลายของผู้คนทั่วโลกในห้วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อให้การเรียนรู้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากการเรียนการสอนแบบเดิมเป็นการเรียนการสอนแบบทางไกล ซึ่งในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนบางกลุ่มในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาช่องว่างทางดิจิทัล
การเท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ตามแนวทางของกรมส่งเสริมการเรียนรู้
ด้วยสภาพบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การส่งเสริมการรู้หนังสือในสังคมยุคปัจจุบัน จึงต้องมุ่งเน้นให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ มีความคิด วิจารณญาณ และเคารพในสิทธิและเสรีภาพของกันและกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริม สนับสนุน และนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมที่สงบสุข ยุติธรรม และยั่งยืน กรมส่งเสริมการเรียนรู้เน้นทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักวิธีการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลและการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้สังคมเกิดความสามัคคีและความสงบสุขร่วมกัน
นอกจากนี้ การแก้ปัญหาช่องว่างทางดิจิทัลต้องเร่งต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการเรียนรู้อย่างทั่วถึงในทุกกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการพลิกโฉมพื้นที่ทุกพื้นที่ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลาย สำหรับผู้เรียนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ทุกพื้นที่ และทุกเวลา โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดความเจริญทางด้านเทคโนโลยี
ปัจจุบัน กรมส่งเสริมการเรียนรู้เน้นย้ำภารกิจหลักในการจัด ส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนได้มีการเรียนรู้ใน 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ โดยมีเป้าหมายระยะยาว (พ.ศ. 2566-2570) 2 ประการ ประการแรกคือ ส่งเสริมให้ชาวไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่อยู่นอกระบบโรงเรียนหรือพ้นการศึกษาภาคบังคับไปแล้วทุกคนจะต้องรู้หนังสือทั้งระดับการอ่านออกเขียนได้ และคิดเลขเป็น และรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ ประการที่สองคือ ทุกชุมชนและหมู่บ้านทั่วประเทศมีแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการ ศักยภาพ และโอกาสในการเรียนรู้
การรู้หนังสือในโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่าน
แนวคิดหลักของการเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี พ.ศ. 2566 คือ “การส่งเสริมการรู้หนังสือในโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่าน : การสร้างรากฐานเพื่อสังคมที่ยั่งยืนและสงบสุข” รัฐบาลทุกประเทศต้องมีการพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการต่างๆ ที่สนับสนุนและเอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริงอย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรม
นางสาวทรงศรี เน้นย้ำว่า “กรมส่งเสริมการเรียนรู้ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรสำคัญที่มีส่วนร่วมส่งเสริม ผลักดัน และสนับสนุนการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนในทุกช่วงวัย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ การศึกษาจะช่วยพัฒนาคนให้มีความรู้ มีความสามารถ และมีคุณธรรม ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองและสังคมโดยรวมต่อไป”