สสส.จับมือ สธ.-สช.-สปสช.-องค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษา ร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างชุมชนสุขภาพดีลดความเหลื่อมล้ำ ให้คนไทยเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง
ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. จัดกิจกรรมเสวนาใน หัวข้อ “ทิศทางการทำงานของ สำนัก 7” เพื่อให้เห็นบทบาท เป้าหมายและการทำงานของสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ c]tทิศทางการทำงานในระยะต่อไป ของสสส.ในการสร้างเสริมสุขภาพทุกคนบนแผ่นดินไทยทั้ง 4 มิติ โดยมี น.ส.ประวีณมัย บ่ายคล้อย เป็นผู้ดำเนินรายการ
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 7 กล่าวว่า หลักการทำงานของ สสส. คือใช้การ สร้างนำซ่อม ที่อย่ารอให้ร่างกายเสียแล้วค่อยมา ‘ซ่อม’ สุขภาพ แต่ให้มา ‘สร้าง’ สุขภาพ ให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อป้องกันโรค ซึ่งจะยึดโยงกับ เป้าหมายยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี ของ สสส. ที่จะขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ครอบคลุมเป้าหมายยุทธศาสตร์ทั้ง 7+1 คือ 1.ยาสูบ 2.แอลกอฮอล์และยาเสพติด 3.อาหาร 4.กิจกรรมทางกาย 5.ความปลอดภัยทางถนน 6.สุขภาพจิต 7.มลพิษจากสิ่งแวดล้อม และ 8.ปัญหาสุขภาพอุบัติใหม่และปัจจัยเสี่ยงอื่น ที่สำคัญทุกเป้าหมายจะมุ่งลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ หรือสำนัก 7 มีบทบาทในการจุดประกายด้วยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับระบบบริการสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงสหวิชาชีพสานพลังเครือข่ายการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เป้าหมายของสำนัก 7 คือการทำให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีสุขภาวะที่ดี ผ่านการปรับเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพ (Reorient health services) ให้ทำงานสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น โดยเป้าหมายในระยะสั้นจะมีการพัฒนาศักยภาพ ให้บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถเข้าไปให้ความรู้ ทั้งในกลุ่มโรค กลุ่มเสี่ยง ให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง หรือ NCDs ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพโดยระบบบริการสุขภาพ ตลอดจนขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ยั่งยืน และในระยะยาวคาดหวังว่า ประชาชนสามารถจัดการสุขภาพตนเอง ชุมชนสามารถขับเคลื่อนจัดสรร และแก้ไขปัญหาสุขภาพครอบครัว และชุมชนได้ จนทำให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีสุขภาวะที่ดี มีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ เป็นสังคมสุขภาวะยั่งยืนสำหรับทุกคน
“ที่ผ่านมา สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ ทำงานกับ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชน พัฒนากลไกระบบสุขภาพ อาทิ การสร้างเสริมสุขภาพระดับพื้นที่ผ่านกลไก คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งขณะนี้ดำเนินงานไปทั้งหมด 878 อำเภอ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการมีส่วนร่วมในระดับชุมชน ในการจัดการระบบสุขภาพชุมชนบางกอกน้อย “บางกอกน้อยโมเดล” ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล การพัฒนาระบบการจัดการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะ “พระโขนงโมเดล” ของคนชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานคร เพื่อความเป็นเมืองสุขภาวะ ซึ่งทุก ๆ ดำเนินงาน มุ่งไปสู่สุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง” นพ.พงศ์เทพ กล่าว