มธ.จัดงาน “วันสถาปนาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ประกาศเดินหน้าเป็นสถาบันการศึกษาระดับโลกเพื่อประชาชน ด้าน “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เจ้าของรางวัลเข็มเกียรติยศปี 2565 ระบุ ต้องส่งเสริมคนรุ่นใหม่เข้าสู่การเมือง
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานวันสถาปนาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2565 ในปีนี้ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่ 88 ของ มธ. นับตั้งแต่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ในฐานะผู้ประศาสน์การ ได้สถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มรก.) ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 27 มิ.ย. 2477
สำหรับ กิจกรรมในงานวันสถาปนาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะตรงกับวันที่ 27 มิ.ย.ของทุกปี เริ่มตั้งแต่พิธีเจริญพระพุทธมนต์ในช่วงเช้า ถัดจากนั้นเป็นพิธีประกาศยกย่องผู้ประกอบคุณงามความดีให้เป็น “กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” “ครูดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” “บุคลากรดีเด่น” ตลอดจนผู้ทรงเกียรติที่ควรค่ากับ “รางวัลเข็มเกียรติยศ” ซึ่งในปี 2565 มธ.ได้มีมติมอบเข็มเกียรติยศให้แก่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง
ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญที่สุดของผู้นำรุ่นใหม่ตามจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ คือจะต้องมีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งสองสิ่งนี้ต้องประกบอยู่ด้วยกันเสมอ เพราะหากมีความรู้แต่ขาดคุณธรรมก็จะยิ่งเกิดผลเสียแก่คนอื่น ดังคำกล่าวของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ที่ว่า ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน เพราะเราอยู่ในสังคม เราคิดถึงแค่ตัวเองไม่ได้ ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ด้านรศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตลอด 88 ปีที่ผ่านมา มธ. ได้ดำรงตนอยู่ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย ธรรมศาสตร์ได้ปรับเปลี่ยนสู่มิติใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์สังคมไทยและระดับโลกมาโดยตลอด ทั้งการพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรที่ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ สร้างการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต นำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการเรียนการสอน พร้อมปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อยกระดับสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชน (The world-class university for the people)
ทั้งนี้ ในวาระพิเศษของการครบรอบ 88 ปีนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา เพื่อนำพามหาวิทยาลัยเปิดประตูไปสู่โลกสมัยใหม่ ด้วยกลยุทธและทิศทางในการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากำลังคนแห่งอนาคต (Future Workforce) พัฒนาที่ทำงานแห่งอนาคต (Future Workplace) พัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมแห่งอนาคต (Future Life and Society) และพัฒนารูปแบบความร่วมมือแห่งอนาคต (Future Collaboration) พร้อมกันนี้ยังใส่ใจในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะไปสู่ความยั่งยืน ด้วยแนวทาง Smart Management เพื่อให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นก้าวสู่ความเป็น Smart University อย่างแท้จริง
ขณะที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “88 ปี ธรรมศาสตร์ กับสังคมไทย” เนื่องในโอกาสได้รับมอบรางวัลเข็มเกียรติยศ ประจำปี 2565 ตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลา 88 ปี ของธรรมศาสตร์จะพบว่าบางช่วงเวลาเงื่อนไขอันเป็นเบ้าหลอมสุกงอมสมบูรณ์ จนสามารถผลิตบุคลากรออกไปขับเคลื่อนร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่ในบางช่วงบางเงื่อนไงอันเป็นเบ้าหลอมกลับเบาบางลงเพราะติดเรื่องข้อจำกัดของสังคมและการเมือง จนมีคำพูดว่าจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์หายไป ส่วนตัวมองว่าจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ไม่ได้หายไปไหน และพร้อมกลับมาลุกโชนได้ทุกเมื่อ
“ส่วนตัวคิดว่าคำว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้นเป็นผลพวงจากเงื่อนไขอันเป็นเบ้าหลอมในรั้วมหาวิทยาลัย กับความมุ่งมั่นและจิตสำนึกของคนธรรมศาสตร์ในแต่ละยุค และเงื่อนไขอันเป็นเบ้าหลอมนี้ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ได้หยุดนิ่ง และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ปรับปรุงได้สามารถนำองค์ประกอบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความทันสมัยและความต้องการของคนในแต่ละยุค” ดร.สมคิด กล่าว
ดร.สมคิด กล่าวว่า เมื่อใดที่นักศึกษาได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้สนใจมิติของบ้านเมือง และมีโอกาสได้แสดงออกในสังคม ทั้งสังคมธรรมศาสตร์หรือสังคมภายนอกพร้อมรับฟัง เคารพ คอยชี้แนะอย่างมีเหตุผล ส่วนตัวเชื่อว่าด้วยเงื่อนไขจากเบ้าหลอมและโอกาสที่ได้รับจะทำให้คนสนใจปัญหาบ้านเมือง และจิตสำนึกที่จะทำงานให้สังคมนั้นจะกลับขึ้นมาได้ทุกเมื่อ
“ในอดีต ผมอยากเป็นตัวอย่างให้คนในรุ่นว่าต้องกล้าเข้าสู่การเมือง อย่าหลีกหนีการเมือง เพราะว่าคนไทยส่วนหนึ่งมองว่าไม่ควรเข้าไปยุ่งให้เปลืองตัว แต่ส่วนตัวกลับมองว่าไม่ใช่ ถ้าเราไม่พยายามส่งเสริมคนรุ่นใหม่เข้าไป การเมืองมันก็ไม่ดี จึงต้องเอาคนดีๆ ให้เข้าไป ด้วยมูลเหตุนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตตน อย่างไรก็ตามในชีวิตการทำงานเราเป็นแค่มนุษย์ปุถุชน การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองไม่ใช่ว่าเราจะทำได้ทุกอย่าง บางอย่างก็ทำได้พอสมควร แต่การทำงานบางครั้งเราไม่สามารถ Maximize แต่ต้อง Optimize หาจุดพอดี” ดร.สมคิด กล่าว
อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า หากถามว่าอนาคตข้างหน้าบทบาทของธรรมศาสตร์เป็นอย่างไร บทบาทธรรมศาสตร์ก็คือเป็นแหล่งปัญญา ผลิตบุคลากรเพื่อออกไปขับเคลื่อนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผลิตนักศึกษาซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคมทางในบ้านเมืองเพื่อสิ่งที่ดีกว่า นั่นก็คือบทบาทที่แท้จริงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่ความซื่อสัตย์ สุจริต และการมีคุณธรรม คือแนวคิดการดำเนินชีวิตที่ได้มาจากครอบครัว และถือเป็นแกนหลักของชีวิต เพราะหากขาดสองสิ่งนี้โอกาสที่ชีวิตจะไปผิดทิศผิดทางมีสูงมาก ดังนั้นเราควรยึดสิ่งนี้ไว้ เมื่อได้เข้าสู่ช่วงเวลาของวัยรุ่นทุกคนจะต้องเจอสิ่งแวดล้อมที่ยั่วยุ แต่หากเรามีแกนหลักที่แข็งแรง ความชั่วร้ายต่างๆ ก็ไม่มีทางทำอะไรเราได้ ฉะนั้นด้วยหลักการนี้ ถ้าเจอเรื่องที่ไม่ดี คนก็จะไม่ทำ
“ผมอยากจะบอกว่าเวลาที่เราเป็นวัยรุ่น เรามักคิดว่าสิ่งเดิมๆ ที่คนอายุมากสอนมันล้าสมัย นี่เป็นเรื่องปกติ เพราะเขาอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง แต่ผมโตขึ้นมาจนถึงอายุขนาดนี้ คำแนะนำโบราณ ไม่มีสักข้อที่ผิดเลย ของทุกอย่างที่ผ่านกาลเวลามา มันพิสูจน์ด้วยเวลา ฉะนั้นเราต้องรับฟัง การที่คุณมีรากเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว คุณเคยเห็นต้นไม้ที่เติบใหญ่โดยที่ไม่มีรากมั้ย มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วกับของใหม่มาผสมผสานให้ทันสมัยยิ่งขึ้น” ดร.สมคิด กล่าว
สำหรับรายนามของผู้ที่ได้รับรางวัลในงานวันสถาปนาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนี้ ประกอบด้วย รางวัลกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2564 จำนวน 1 ท่าน ได้แก่ ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณะนิติศาสตร์
รางวัลครูดีเด่น ประจำปี 2564 แก่ผู้ที่มีความเสียสละ อุทิศตนให้แก่การสอนอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง มีจริยธรรมและเมตาธรรม เป็นแบบอย่างความเป็นครูที่ดี จำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย 1. รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ คณะรัฐศาสตร์ ครูดีเด่นสาขาสังคมศาสตร์ 2. ผศ.อดิศร หมวกพิมาย คณะศิลปศาสตร์ ครูดีเด่นสาขามนุษย์ศาสตร์ 3. รศ.ดร.สุเปญญา จิตตพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครูดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รางวัลบุคลากรดีเด่น ประจำปี 2564 ซึ่งมอบให้แก่บุคลากรที่อุทิศตนให้แก่การปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวม 4 ประเภท รวมทั้ง โล่เกียรติยศ ประเภทศิษย์เก่าดีเด่น ให้กับศิษย์เก่าที่ได้สำเร็จการศึกษาออกไปทำงานรับใช้สังคมและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย อีก 52 ราย