THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

24 มิถุนายน 2565 : 16:25 น.

ปลัดมหาดไทยกำชับผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเร่งสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วนทราบแนวการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากโควิด ย้ำต้องใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทแม้ไม่บังคับให้สวมหน้ากากอนามัย

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในปัจจุบันสถานการณ์โควิด - 19 ได้คลี่คลายลงและมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น จากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศในการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวลดลง จนภาครัฐสามารถผ่อนปรนมาตรการและข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการสามารถใช้ชีวิตและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติ รวมไปถึงการผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องการเดินทางทั้งในและระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลเพื่อรับผู้เดินทางจากทั่วโลก เพื่อเตรียมความพร้อมการจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทั่วไป

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ลงนามประกาศใช้ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 23 มิ.ย. 65 คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 12/2565 ลงวันที่ 23 มิ.ย. 65 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังตามข้อกำหนดฯ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และคำสั่ง ศบค.ฯ ที่ 13/2565 ลงวันที่ 23 มิ.ย. 65 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 65 เป็นต้นไป จึงได้สั่งการและประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทราบและถือปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ ดังกล่าว

ทั้งนี้ มีสาระสำคัญ คือ 1.การปรับปรุงพื้นที่สถานการณ์ในทุกจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (พื้นที่สีเขียว) ซึ่งสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ โดยระมัดระวังการแพร่ระบาดโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ 2.การจำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่ม สถานบริการและสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดไว้เฉพาะของกิจการนั้น ๆ ได้ตามปกติ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามคำแนะนำของทางราชการ ยกเว้นกรณีที่มีการจัดกิจกรรมหรือรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คนขึ้น ผู้จัดยังคงต้องแจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครทราบ เพื่อเป็นมาตรการเฝ้าระวังและกำกับติดตามไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดแบบกลุ่มก้อน (Cluster)

3.การผ่อนคลายมาตรการสำหรับการเคลื่อนย้ายและการเดินทางของแรงงานต่างด้าวทั่วราชอาณาจักร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว โดยให้การเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทำงานข้ามเขตจังหวัดและการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทำงานภายในเขตจังหวัด สามารถทำได้ภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการได้ตามปกติ และ 4) ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ไม่ต้องใช้ Thailand Pass และไม่มีการกักตัว เพื่อสอดคล้องกับมาตรการและหลักเกณฑ์สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรมีความสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

“นอกจากนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัด เร่งชี้แจง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนได้ทราบถึงแนวการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย สอดคล้องกับมาตรการสังคม ชุมชน และองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้เป็นการปฏิบัติโดยความสมัครใจ ซึ่งมีข้อแนะนำจากหน่วยงานสาธารณสุขว่า ผู้ที่มีความพร้อมมากพอจะถอดหน้ากากอนามัยได้นั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถถอดหน้ากากอนามัยได้ แต่ต้องเป็นคนที่ได้รับวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือวัคซีนประเภทadenovirus vector เช่น แอสตร้าเซเนกา และต้องมีวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย และการถอดหน้ากากอนามัย ควรถอดหน้ากากเมื่ออยู่ในสถานที่ ที่เปิดโล่ง ไม่แออัด และจำนวนคนไม่หนาแน่นจนเกินไป เช่น สวนสาธารณะ ชายหาด สนามกีฬา ที่เว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 2 เมตร แต่หากเป็นสถานที่ปิด เช่น อาคารแบบปิด ผับ บาร์ สถานบันเทิง รวมทั้งสถานที่ทำงานที่มีแอร์ หรือพื้นที่ที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก หรืออากาศระบายถ่ายเทไม่ดี เช่น โรงพยาบาล ก็ยังมีความจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อโควิด-19 และโรคอื่น ๆ"นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรณีเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์) หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกลุ่มโรคเบาหวานแบบคุมไม่ได้ และกลุ่มที่ภูมิต้านทานบกพร่อง ซึ่งเป็นผู้เข้าข่ายเสี่ยงหากติดเชื้อโควิด - 19 จะมีอาการรุนแรงหรือความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต ควรสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น และกรณีเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่โรค

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในด้านการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับพี่น้องประชาชน ได้รับรายงานว่า ขณะนี้ทุกจังหวัดสามารถจัดสรรวัคซีนฉีดให้กับพี่น้องประชาชน โดยเข็มที่ 1 ร้อยละ 82 เข็มที่ 2 ร้อยละ 77 และวัคซีนเข็มที่ 3 ร้อยละ 43 ทั้งนี้ ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (24 มิ.ย.65) ได้สั่งการให้หัวหน้าสำนักงานจังหวัดทุกจังหวัดได้ประสานกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย รวมถึงคนต่างด้าวที่พักอาศัยในพื้นที่จังหวัดให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนบริหารวัคซีน คือ ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 และสร้างการรับรู้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต้องไม่ประมาทในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะไม่ว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ไหน ๆ หรือโรคภัยไข้เจ็บใด ๆ พวกเราทุกคนสามารถป้องกันได้ ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทานอาหารครบทุกหมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยลดความเสี่ยง ป้องกันการติดเชื้อโรคหรือการแพร่โรค สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในครอบครัวและสังคมได้อย่างอยู่รอดปลอดภัยและเป็นปกติสุข

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ