THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

20 พฤษภาคม 2565 : 19:22 น.

ครบรอบ 4 เดือน ในการสูญเสีย ‘หมอกระต่าย’ วุฒิสภา-สสส.-ภาคีเครือข่าย เร่งเดินหน้ารณรงค์ ทางม้าลายปลอดภัย เกือบครึ่งปียังเกิดเหตุซ้ำรอย คนเดินเท้าดับ 64 ราย ด้านญาติ “ครูกระต่าย”วอนสังคมอย่านิ่งเฉย ต้องให้ความสำคัญกับการต่อ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสท์ วิลล์ สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย สำนักงานเขตลาดพร้าว สน.โชคชัย และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 4 พร้อมจัดกิจกรรมการแสดงบนเวทีจากอาสายุวกาชาด สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทยและเสวนาในหัวข้อ “อันตรายคนข้ามทางม้าลาย กับความเร็วในเขตเมือง” มอบหมวกนิรภัยและแจกสติ๊กเกอร์ “ขอบคุณ ที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” รณรงค์สร้างจิตสำนึกหวังให้ผู้ขับขี่หยุดรถตรงทางม้าลาย ลดความเร็วเขตชุมชน ชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม และสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่รถจักรยานยนต์  ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสท์ วิลล์ กรุงเทพฯ

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นมหันตภัยใหญ่ คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี แต่ยังเทียบไม่ได้กับครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จากอุบัติเหตุทางถนนอย่าง ครอบครัว ‘หมอกระต่าย’ หรือ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล และกรณี ‘ครูกระต่าย’ หรือ น.ส.กาญจนี ใจชื้น ที่เสียชีวิตระหว่างปกป้องลูกศิษย์ ที่กำลังข้ามถนน จนถูกผู้ถูกรถจักรยานยนต์ชน หน้าศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด อ.แม่สอด จ.ตาก จากทั้งสองเหตุการณ์ จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคน ใช้ความเร็วที่ปลอดภัย ชะลอความเร็วเมื่อเห็นทางข้ามทางม้าลายหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล เขตชุมชน หน้าตลาด วุฒิสภาพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย ในการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ เพื่อปรับพฤติกรรมของคนใช้รถใช้ถนน ให้เห็นความสำคัญในการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย สัญญาณไฟจราจร

ด้าน น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมพบคนเดินเท้าเสียชีวิต 6-8% หรือปีละ 800-1,000 ราย ในจำนวนนี้พบว่า 1 ใน 4 หรือ 300-400 ราย เสียชีวิตระหว่างข้ามทางม้าลาย ข้อมูลบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เดือน เม.ย.65 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการเดินถนน 64 ราย 52% เป็นวัยทำงาน โดยถนนที่เกิดเหตุพบว่า 84% ไม่มีทางข้ามที่ปลอดภัย สสส. และภาคีเครือข่าย จึงมุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรมของการ “หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” และ “ลดความเร็วในเขตชุมชน” อุบัติเหตุทางม้าลายที่พบผู้เสียชีวิต ความเร็วเป็นเหตุสำคัญ ส่วนใหญ่คนขับจะไม่หยุด ไม่ชะลอรถ ใช้ความเร็วสูง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่าความเร็วรถที่ 30 กม./ชม. ช่วยลดการเสียชีวิตได้ถึง 90% จึงอยากชวนให้ผู้ขับขี่ทุกคนตระหนัก ชะลอรถ-หยุดรถเสมอ ส่วนคนข้ามถนนต้องข้ามถนนที่ทางม้าลายหรือสะพานลอย เพื่อความปลอดภัย

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า กลุ่มคนเดินเท้า เป็นกลุ่มผู้เปราะบางในการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะผู้ประสบเหตุอุบัติเหตุจากการข้ามทางม้าลาย ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดความปลอดภัย เพราะเกิดเหตุอยู่เป็นระยะ จึงมีข้อเสนอดังนี้ 1. ปรับกายภาพ เช่น ทำทางข้ามให้ชัดเจน กำหนดเขตใช้ความเร็ว-ชะลอความเร็ว ระยะยาวเสนอปรับลดความเร็วเขตเมืองไม่เกิน 50-60 กม./ชม. 2.บรรทัดฐานสังคม สื่อสารสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องเรื่อง “การลดความเร็วเขตเมือง” ขับเว้นระยะคันหน้า ชะลอ และหยุดเมื่อมีคนข้าม 3. สร้างการเรียนรู้และบังคับใช้กฎหมาย เรียนรู้การคาดการณ์ความเสี่ยง เห็นรถชะลอเท่ากับคาดว่าจะมีคนข้าม ไม่เร่งแซงออกขวาทันที และบังคับใช้กฎหมายต่อเนื่องจริงจัง นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม อย่างไรก็ตาม ศปถ. ซึ่งเป็นกลไกจัดการและบูรณาการหลัก ควรเข้ามาเสริมและกำกับให้มีการทำงานที่ต่อเนื่องอยู่ตลอด

ขณะที่ นายสุจริต ใจชื้น น้องชายครูกระต่าย กล่าวว่า กรณีที่พี่สาวของตน ถูกรถจักรยานยนต์ไรเดอร์วิ่งส่งอาหารพุ่งชน บริเวณหน้าศูนย์การศึกษา ถนนสายบายพาสหลังที่ว่าการ อ.แม่สอด เขตเทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น ทางครอบครัวรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก สภาพจิตใจคนในครอบครัวแย่ ที่น่าเป็นห่วงคือคุณพ่อ ซึ่งเครียดหนักมาก เพราะอีกไม่นานลูกสาวจะได้บรรจุเข้ารับราชการอยู่แล้วแต่ต้องมาจากไป รวมถึงลูกชายครูกระต่าย จากเด็กร่าเริงตอนนี้มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนี้ คือ สูญเสียหนึ่งเสาหลักของครอบครัวไป ไม่อยากให้การตายของพี่สาวตนเงียบไป ขอให้สังคมได้รับรู้ ไม่นิ่งเฉยต่อทุก ๆ เหตุการณ์ และเป็นบทเรียนในเคารพกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของตัวเองและคนอื่น ๆ เคสของตนรถคู่กรณีไม่ได้ต่อ พรบ.รถจักรยานยนต์ ทำให้กลไกการช่วยเหลือตามพรบ.ที่ควรได้ไปไม่ถึง จึงอยากวิงวอนให้ทุกคนให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพื่อสิทธิตามกฎหมายเวลาเกิดอุบัติเหตุ หวังว่าสื่อจะช่วยเป็นกระบอกเสียงในเรื่องนี้ ที่มีพ่อคนหนึ่งสูญเสียลูกพร้อมกับเด็กอีกคนที่สูญเสียแม่ที่รักไปตลอดกาล และต้องขอบคุณคณะกรรมการฯชุดนี้ที่เข้าไปช่วยเหลือครอบครัวของเรา

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ