THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

10 พฤษภาคม 2565 : 17:44 น.

สสส.จับมือกรมควบคุมมลพิษชงปรับแก้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ราย 24 ชม.และ 1 ปี เพิ่มระดับป้องกันผลกระทบสุขภาพลดเสี่ยงโรคทางเดินหายใจ-โรคไม่ติดต่อเรื้อรังสอดคล้องเป้าหมายสู่เกณฑ์ WHO ภายในปี 65

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เปิดเผยว่า มลพิษทางอากาศฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เป็นปัญหามากว่า 10 ปี ทำให้ คณะรัฐมนตรีมีนโยบายให้การแก้ไขปัญหามลภาวะฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ ปี 2562-2567 มีมาตรการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งต้องมีการกำหนดค่ามาตรฐานเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง และค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปี ให้สอดคล้องกับเป้าหมายองค์การอนามัยโลก (WHO) ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงถือเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM 2.5 และร่วมกันพัฒนาแผนงานหรือกลยุทธ์ที่จะดำเนินการให้ชัดเจน เพื่อรองรับการกำหนดค่ามาตรฐานที่ปรับปรุงใหม่ มุ่งขับเคลื่อนแก้ปัญหาฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ

นายชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ได้ยกระดับการดำเนินงานปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ด้าน “การลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม” เป็น 1 ใน 7 ทิศทาง และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565-2574) มลพิษทางอากาศ ถือเป็นเรื่องที่ต้องป้องกันและแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ที่ผ่านมา สสส. จัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) สนับสนุนงานวิชาการขับเคลื่อนแก้ปัญหามลพิษอากาศ ขยายเครือข่ายภาคประชาสังคมสนับสนุนการดำเนินงานสภาลมหายใจภาคเหนือ แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบองค์รวม รวมถึงผลักดันปทุมวันโมเดลลดฝุ่นเขตเมือง เนื่องจากฝุ่นเพิ่มความเสี่ยงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจและกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

“ประเทศไทยใช้มาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา สอดคล้องกับค่าเป้าหมายระหว่างทางระดับที่ 2 (Interim Target-2; IT-2) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งปัจจุบัน WHO ได้ประกาศปรับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่ที่เข้มข้นขึ้นในรอบ 16 ปี แม้ยังไม่มีประเทศใดประกาศใช้ค่ามาตรฐาน PM 2.5 เท่าเกณฑ์ใหม่ของ WHO ก็ตาม แต่การปรับเกณฑ์ของประเทศไทยให้อยู่ในระดับ Interim Target-3; IT- 3 ในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำให้ต้องเร่งแก้มลพิษอากาศจริงจัง และบังคับใช้ในเร็ววัน เพื่อให้จำนวนวันที่อากาศสะอาดของคนไทยมีเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ทางสุขภาพ” นายชาติวุฒิ กล่าว

ด้าน นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ ทส. มีหน้าที่เสนอแนะกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม การปรับแก้ไขมาตรฐานคุณภาพอากาศสิ่งแวดล้อมจะนำไปสู่การปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อป้องกันผลกระทบสุขภาพจากการได้รับฝุ่นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จากเกณฑ์แนะนำใหม่ของ WHO โดยปรับปรุงค่ามาตรฐานราย 24 ชม. จากเดิมไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นไม่เกิน 37.5ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จากเดิมไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ร่างมาตรฐานฝุ่นฉบับนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา เพื่อประกาศใช้ให้ทันภายในเดือนกันยายน 2565

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ