ผบก.ปอท.สั่งสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอย่างรอบครอบและประสานข้อมูลกับดีอีเอส.กรณีโฆษณาลาซาด้า หลังจากมีผู้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาให้ดำเนินคดี 2 รายแล้ว
เมื่อวันที่ 8 พ.ค.พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท.ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้มาพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท. แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ 1. นายอนิวัติ ประทุมถิ่น (นารา เครปกะเทย) 2. บริษัท อินเตอร์เซคท์ ดีไซน์ แฟคทอรี่ จำกัด 3. บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 รายได้ร่วมกันจัดทำสื่อโฆษณาที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่น ล้อเลียน ผู้ป่วยและผู้พิการ และมีเจตนาในการพาดพิง ดูหมิ่น สถาบันฯให้ได้รับความเสื่อมเสีย ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นสื่อโฆษณาดังกล่าวสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการ ล้อเลียน ดูหมิ่นสถาบันฯผู้กล่าวหาจึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาในความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14(3)
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน บก.ปอท.ได้รับคำร้องทุกข์ไว้เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว โดย พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปอท. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานอย่างรอบครอบ และให้ประสานข้อมูลกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อีกส่วนหนึ่งด้วย
นอกจากกรณี ของนายศรีสุวรรณ แล้ว ในวันนี้ (8 พ.ค.) ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน(ศ.ป.ป.ส.) โดยนายอานนท์ กลิ่นแก้ว ได้มาพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เพื่อประสานข้อมูลเพื่อให้ บก.ปอท.ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลเดียวกัน ตามพฤติการณ์ ข้อเท็จจริงเดียวกัน ในส่วนนี้ พนักงานสอบสวน บก.ปอท. จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ตาม บก.ปอท. ขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน รวมถึงบริษัท เอเจนซี่ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโฆษณาสินค้าหรือบริการ ควรคำนึงถึง จรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณา ของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย อันได้แก่ 1. การโฆษณาทุกชิ้นต้องถูกกฎหมาย มีเกียรติ ซื่อสัตย์ และนำเสนอความจริง 2. การโฆษณาไม่ควรมีความขัดแย้งกับศีลธรรมอันดีและระเบียบสังคม ในการสร้างสรรค์งานโฆษณา ควรกระทำด้วยการตระหนักถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ภายใต้หลักของการแข่งขันที่ยุติธรรม ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในวงการธุรกิจ และ3. การโฆษณาต้องไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการโฆษณานอกจากนี้การนำลักษณะความพิการมาล้อเลียนในลักษณะไม่เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่งด้วย