สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน”เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ผู้บริสุทธิ์สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม ยกระดับทะเบียนประวัติอาชญากรให้ได้มาตรฐานสากล
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ฐากูร นิ่มสมบูรณ์ ผบก.ทว. ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ในฐานะที่ปรึกษาฯ ร่วมแถลงโครงการ “ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน” เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำฐานระบบข้อมูลอาชญากรรม โดยการคัดแยกหรือเปลี่ยนแปลงรายการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันดำเนินการอย่างเร่งด่วน
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตามระเบียบการปฏิบัติของตำรวจนั้น ได้กำหนดให้นำข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหามาจัดเก็บลงในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ก่อน แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ก็ไม่ได้นำรายชื่อของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรโดยอัตโนมัติ แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อคัดชื่อออกเอง ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน
สำหรับ ข้อมูลสถิติ ณ วันที่ 28 เม.ย.จำนวนประวัติที่ยังไม่ได้คัดแยกผลคดีกว่า 12.4 ล้านราย ในจำนวนนี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งรายงานผลคดีถึงที่สุดให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบแล้ว จำนวน 7.8 ล้านราย คงเหลือที่พนักงานสอบสวนจะต้องรายงานผลคดีถึงที่สุดเพิ่มเติมอีก 4.6 ล้านราย โดยได้มอบหมายให้ทุกสถานีตำรวจเร่งสำรวจข้อมูลคดีอาญาถึงที่สุดในความรับผิดชอบ มุ่งเน้นการคัดแยกประวัติอาชญากรรมที่เข้าเกณฑ์ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้่ ซึ่งประกอบด้วยกรณีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือสั่งยุติการดำเนินคดีอาญา ตามระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ, ศาลสั่งยกฟ้อง หรือไม่ประทับรับฟ้อง และกรณีศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง หลังจากที่มีการเคลียร์ประวัติแล้วเสร็จจะมีการแจ้งให้เจ้าตัวรับทราบต่อไป
ด้านผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ปัจจุปันยังขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาล และอัยการ ทำเกิดความยุ่งยากเพราะประชาชนต้องไปขอคัดชื่อออกเอง และทะเบียนประวัติควรแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ทะเบียนประวัติผู้ต้องหาและทะเบียนประวัติอาชญากร เนื่องจากมองว่าในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกยกฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว ควรจะถูกลบประวัติออก เพื่อจะได้มีชีวิตใหม่ในฐานะพลเมืองคนไทยคนหนึ่ง สามารถออกไปประกอบอาชีพหรือหางานทำได้ มีโอกาสในการทำมาหากินได้ แต่ปัจจุปันการจะออกจากทะเบียนอาชญากรได้คือกรณีเสียชีวิต หรือจับผิดตัว พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ออกมาเพื่อล้างความผิดให้อาชญากร แต่เห็นว่าการจะเป็นอาชญากรต่อเมื่อมีคำพิพากษาของศาลแล้ว
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ยังแถลงผลการจับกุม นายวรพล ทรงสละบุญ อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกลุ่มไรเดอร์ว่า สามารถตรวจสอบและลบข้อมูลประวัติอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง แต่จะให้ผู้เสียหายแอดไลน์และขอข้อมูล โดยหากต้องการใบตรวจสอบอาชญากรค่าบริการรายละ 200 บาท หากต้องการ ลบประวัติอาชญากร ค่าบริการ 2,000 บาท จากนั้นจะปลอมเอกสารและส่งเอกสารมาให้ทางไลน์เพื่อให้ผู้เสียหายนำไปใช้ในการสมัครงาน
ส่วนอีกกรณีคือการดำเนินคดีกับ นายจำลอง ยิ่งตระกูล อายุ 58 ปี พนักงานชั่วคราวของบริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่ง ใน จ.นนทบุรี หลังมีพลเมืองดีเข้ามาสอบถามทางเพจของกองทะเบียนประวัติอาชญากร พร้อมส่งเอกสารการตรวจสอบประวัติมาให้ดูพบว่าเป็นเอกสารราชการปลอม จากการสืบสวนทำให้ทราบว่า ผู้ที่ทำเอกสารปลอมขึ้นมานั้น นายจำลอง ได้มอบตัวและรับสารภาพว่า ตนทราบว่าทางบริษัทจะต้องไปเอาเอกสารการตรวจสอบประวัติพนักงานจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อใช้ในการเบิกเงิน
ตนคิดว่าสามารถทำขึ้นมาเองได้ เนื่องจากตนเจอเอกสารการตรวจสอบประวัติเก่าตั้งแต่ปี 2562 จึงนำข้อความมาตัดแปะ และถ่ายเอกสารหลายครั้งเพื่อปกปิดร่องรอยการปลอมแปลง เมื่อได้รับทราบว่าทางกองทะเบียนประวัติอาชญากรมีการแจ้งความ จึงได้เข้ามามอบตัวที่ สน.ปทุมวัน โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่า ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา