เครือข่ายแพทย์ฯ สนับสนุน "อนุทิน" ห้ามนำเข้า-ขายบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมยื่นจดหมายถึงนายกฯ และครม. ช่วยป้องปรามการแทรกแซงของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 65 ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทุกท่าน เพื่อให้ข้อมูลสนับสนุนการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีใจความสำคัญคือ ขณะนี้มีบทเรียนจากหลายประเทศที่ไม่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ต้องประสบปัญหาอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง จนเป็นสาเหตุให้ประเทศต่าง ๆ ออกกฎหมายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันตามรายงานขององค์การอนามัยโลกมีประเทศที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแล้วจำนวน 32 ประเทศ
"ขอชื่นชม นายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนที่เลือกข้างสุขภาพ โดยไม่สนับสนุนการเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ สังคมไทยจะก้าวไปสู่สังคมปลอดบุหรี่ไม่ได้เลย ถ้าอนุญาตให้มีการเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้า เพราะบุหรี่ไฟฟ้าแท้จริงก็คือบุหรี่รูปแบบหนึ่ง"ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าที่มีความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยาสูบ กำลังล็อบบี้และส่งเสียงผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ผ่านนักการเมือง รัฐมนตรี รวมทั้งกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายห้ามขาย ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการล็อบบี้ก็เพื่อประโยชน์ในเชิงธุรกิจทั้งสิ้น และคนกลุ่มนี้ยังบิดเบือนข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและรัฐบาลสามารถที่จะควบคุมได้โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน
"อยากฝากไปที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคม อยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเห็นแก่ประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนทุกคนมากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ"ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าว
ด้าน ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ดังนั้นอนุสัญญาฯ นี้จึงผูกพันการทำงานของหน่วยงานรัฐทุกฝ่ายทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ การวิ่งเต้นเพื่อล้มล้างกฎหมายห้ามขาย ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าของอุตสาหกรรมยาสูบ ผ่านทางที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ จึงถือว่าขัดต่อพันธกรณี ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ในมาตรา 5.3 เรื่องการป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบ ซึ่งห้ามอุตสาหกรรมยาสูบและผู้ที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ มีส่วนร่วมต่อการกำหนดกฎหมายหรือดำเนินการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ