มหาดไทยผนึกกำลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าขับเคลื่อนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่กรมการปกครอง (วังไชยา) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน โดยมี ปลัดจังหวัดทุกจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอรับผิดชอบศูนย์ดำรงธรรม และพัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ เข้าร่วมรับฟัง โดยมี พล.ต.ทท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายชวนันท์ ชื่นสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน โดยมี ปลัดจังหวัด 76 จังหวัด นายอำเภอทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศ และผู้บริหารกรมการปกครองส่วนกลางร่วมประชุมและรับฟังการบรรยาย
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) มีเป้าหมายสำคัญ คือ “การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน” ด้วยเป้าเดียวกันจากข้อมูลในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP ที่มีอยู่ประมาณ 6 แสนครัวเรือน หรือประมาณ 1 ล้านคนเศษ ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดารมว.มหาดไทย ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทั่วประเทศ บูรณาการทุกภาคส่วนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ตกเกณฑ์ TPMAP ทั่วประเทศ และกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้ออกแบบระบบ ThaiQM เพื่อทำการสำรวจข้อมูลผู้ตกหล่นจากระบบ TPMAP เพิ่มเติม โดยใช้หลักเกณฑ์ 17 ตัวชี้วัดที่สอดรับกับระบบ TPMAP และจากการลงพื้นที่สำรวจและวิเคราะห์สภาพปัญหาของทีมพี่เลี้ยงพบว่า ประชาชนที่ตกเกณฑ์กำลังประสบกับปัญหาหนี้สิน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ปัญหาดังกล่าวอยู่นอกเหนือตัวชี้วัดในระบบ TPMAP จึงเป็นที่มาของการประชุมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
ด้าน พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลได้จำแนกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การจัดการเจ้าหนี้นอกระบบ มิติที่ 2 ไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ มิติที่ 3 ให้แหล่งเงินในระบบ มิติที่ 4 ฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ และมิติที่ 5 สร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดตั้ง “ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ” หรือ ศปน.ตร. ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. ขึ้นมาแก้ปัญหา
พล.ต.ท.ธนา กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สภาพปัญหา 7 ประเภทที่มีสถิติในลำดับต้น ๆ ทั้งเรื่องดอกเบี้ยเกินอัตรา กู้ออนไลน์ และหมวกกันน็อค พบว่าสภาพปัญหาเรื่องดอกเบี้ยเกินเป็นเรื่องระหว่างบุคคลกู้ยืมกันเอง ยากต่อการที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐจะเข้าตรวจสอบ จะพบปัญหาก็ต่อเมื่อมีการผิดสัญญากันเกิดขึ้น พบมากในปี 63 - 64 และมีแนวโน้มลดลงในปี 65 อันมีผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในส่วนของ “หมวกกันน็อค” ได้รับร้องเรียนมากในปี 63 และได้มีการกวาดล้างจับกุมอย่างเข้มงวดจนมีแนวโน้มการกระทำความผิดลดลงในปี 64 และ 65 และสำหรับ “กู้ออนไลน์” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 64 – 65 จนเป็นเบาะแสร้องเรียนมากที่สุด เนื่องจากมีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการกระทำความผิดมากขึ้น และพบการกระทำความผิดกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
“ในปัจจุบันพบการปล่อยกู้มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หากพี่น้องประชาชนมีเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่านสายด่วน 1599 หรือแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้านทั้ง 1,484 สถานี หรือกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยในกรณีเป็นการกระทำความผิดที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและพบผู้มีอิทธิพลในการกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องหลายพื้นที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะส่งชุดปฏิบัติการส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้เสียหายจากผู้มีอิทธิพล” พล.ต.ท.ธนากล่าว
ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ กลไกสำคัญที่ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับพี่น้องประชาชน คือ กลไกในระดับพื้นที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และพัฒนากร จะทำให้เกิดการประสานข้อมูลระหว่างกัน และเกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งในมิติป้องกัน ปราบปราม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้นอกระบบ จะทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนบรรลุผลตามนโยบายรัฐบาล เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และพัฒนากร ได้ช่วยกันพิจารณาแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะองค์ความรู้และทักษะในการใช้ชีวิต ทั้งการป้องกัน “ก่อนจะเป็นหนี้” หากเมื่อพี่น้องประชาชนเป็นหนี้แล้วเราจะช่วยแก้ไขอย่างไร และหลังจากที่แก้หนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนมีภูมิคุ้มกันและไม่กลับไปเป็นหนี้ซ้ำ ซึ่งเป็นหลักก่อนที่จะเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ทั้งนี้ ขอให้ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของพี่น้องประชาชน