พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาญจนบุรี
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. เวลา 17.35 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะข้าราชการ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรและของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรและของที่ระลึกแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสร็จแล้ว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดโครงการ ฯ
จากนั้น เสด็จออกจากพลับพลาพิธีไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายโครงการ ฯ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้ว เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ต่อจากนั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการ ฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานของที่ระลึกและโล่ประกาศเกียรติคุณ เสร็จแล้ว ทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับ วัฏจักรอุทกวิทยาของประเทศไทย โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 15 โครงการ 11 จังหวัด ประกอบด้วยกาญจนบุรี,ขอนแก่น,ราชบุรี,ฉะเชิงเทรา,นครปฐม,ศรีสะเกษ,นครพนม,กาฬสินธุ์,ลำพูน,เชียงใหม่ และพัทลุง การพัฒนาระบบน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเล่าขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี โมเดลหน้าตัดดิน โมเดลโครงการฯ เทคโนโลยีการสำรวจและเจาะน้ำบาดาล วิวัฒนาการพัฒนาระบบน้ำบาดาล งานอนุรักษ์และฟื้นฟูน้ำบาดาล และน้ำบาดาลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปลูกต้นรวงผึ้ง ณ บริเวณหน้าป้ายโครงการ ฯ
จากนั้นทอดพระเนตรแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ คอกปศุสัตว์ และ “บ้านน้ำดื่ม” ซึ่งใช้น้ำจากน้ำบาดาลในพื้นที่บ้านปากชัดหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเล่าขวัญ ในการผลิตเป็นน้ำแร่ โดยค้นพบว่าเป็นน้ำแร่ธรรมชาติที่มีอายุกว่า 7,530 ปี สะอาด ไม่พบจุลินทรีย์และสารปนเปื้อน มีคุณภาพเหมาะสมที่จะบริโภคได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก(WHO) เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นน้ำในการบริโภค โดยกรมน้ำบาดาลได้ดำเนินการผลิตน้ำดื่มได้กว่า 2 พันล้านลิตรต่อปี บริการให้แก่ประชาชนฟรีแล้วใน 512 แห่งทั่วประเทศ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 3 ล้านคน จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ซึ่งเป็นราษฎรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ต่างพร้อมใจเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” และโบกธงชาติ ธงพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. และธงพระนามาภิไธย ส.ท. ด้วยความจงรักภักดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงโบกพระหัตถ์ และแย้มพระสรวล ราษฎรต่างปลื้มปีติที่ได้ชื่นชมพระบารมี สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว ลานตากพืชผลทางการเกษตร ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงทรงรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งสิ้น 15 โครงการ 11 จังหวัด ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี โดยมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ พิจารณาพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ ไม่มีศักยภาพในการเจาะบ่อน้ำบาดาล จึงมีความจำเป็นต้องทำการเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่พร้อมกับก่อสร้างระบบประปาบาดาลในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อน โดยจัดทำโครงการต้นแบบจำนวน 2 พื้นที่ คือ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลดงเค็ง อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น และโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งพื้นที่อำเภอเลาขวัญเป็น 1 ใน 5 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้ชื่อว่าเป็น “อีสานภาคกลาง” ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมาเป็นเวลาหลายปี เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ไม่มีแหล่งน้ำและระบบชลประทาน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร จึงเหมาะสมที่จะเป็นโครงการต้นแบบในโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโครงการต้นแบบที่มีการก่อสร้างระบบประปาขนาดใหญ่ ทำการเจาะบ่อบาดาลพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำบาดาล มีถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาด 2,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง หอถังเหล็กเก็บน้ำชนิดรักษาแรงดัน ขนาด 300 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง มีอาคารศูนย์การเรียนรู้ด้านน้ำบาดาลและจุดบริการน้ำดื่มสะอาด พร้อมสร้างแนวท่อกระจายน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในตำบลหนองฝ้าย เพื่อให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี โดยมีประชาชนได้รับประโยชน์ จากการใข้พื้รที่ครอบคลุมจำนวนกว่า 300,000 ไร่ ปริมาณน้ำที่ได้ประมาณ 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ยังส่งน้ำไปยังตำบลอื่น ๆ ในอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้มีน้ำต้นทุนสำหรับทำระบบประปาหมู่บ้านได้อย่างเพียงพอและมั่นคง ในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนสืบไป