หมอปลาพร้อมทนายความคู่ใจพาเหยื่อบุกร้องกองปราบถูกกลุ่มเครือข่ายหลอกวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งผกก. อ้างว่ารู้จักกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่รวมถึงบุคคลมีตำแหน่งในสังคมสููญเงินหลายล้าน
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ หมอปลา พร้อมด้วย นายไพศาล เรืองฤทธิ์ ทนายความ และ นายกฤษฎา โลหิตดี หรือ ทนายโนบิตะ พานายภาณุมาศ จิตวศินกุล หรือ เฮียเปี๊ยก นักธุรกิจ และ น.ส.เอ (สงวนชื่อ-นามสกุล) ผู้เสียหาย เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. เพื่อให้ทำการตรวจสอบกลุ่มเครือข่ายหลอกวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งข้าราชการ อ้างว่ารู้จักกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงบุคคลที่มีตำแหน่งในสังคม โดยมี พ.ต.อ.เทวินทร์ ขุนแก้ว ผกก.กลุ่มงานสอบสวน บก.ป. เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียน ที่กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.)
น.ส.เอ เปิดเผยว่า ตนได้รู้จักกับนางปฏิญาพร ชันสุน หรือ เจ๊โหน่ง จากการไปร่วมทำบุญด้วยกันหลายครั้ง ต่อมาเมื่อนางปฏิญาพร ทราบว่าสามีของตนรับราชการตำรวจ จึงพยายามเข้ามาทำทีตีสนิทมากขึ้น ก่อนขอให้ทางครอบครัวของตนช่วยทำบุญกฐินเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ตนเห็นว่าเป็นการทำบุญจึงโอนเงินให้ไป กระทั่งผ่านไปไม่นาน เจ๊โหน่ง ก็เริ่มออกอุบายนัดสามีของตนมาที่ร้านอาหารส้มตำเจ๊ญา และได้พบกับนางอณัญญา พลเยี่ยม หรือ “เจ๊ญา” และ หม่อมหลวงจรัลพงษ์ จรูญโรจน์ หรือ หม่อมแฟงค์ โดยเจ๊โหน่งได้แนะนำว่าทั้งสองคนรู้จักนักการเมือง และตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอ้างด้วยว่าหม่อมแฟงค์มีฐานันดร สามารถช่วยเหลือให้สามีของตนเลื่อนตำแหน่งจากรองผู้กำกับเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจได้ แต่ต้องยอมจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการ สามีและตนเอง จึงไปหากู้ยืมเพื่อนฝูงแล้วโอนเงินให้กับทั้ง 3 คนหลายครั้งเป็น จำนวน 5,750,000 บาท
น.ส.เอ กล่าวว่าเมื่อผลการแต่งตั้งออกมากลับปรากฎว่าไม่ได้รับการแต่งตั้งตามที่กล่าวอ้าง จึงขอเงินคืนแต่ก็ถูกปฏิเสธ โดยทางเจ๊โหน่งกับหม่อมแฟงค์อ้างว่าเงินได้ให้เจ๊ญาไปแล้ว ตนจึงทวงถามไปที่ทางเจ๊ญา ก่อนจะมีการคืนเงินให้มาเพียงบางส่วน จากนั้่นจะเริ่มบ่ายเบี่ยง จึงเชื่อว่าถูกหลอกและมีการทำกันเป็นขบวนการ รวมถึงยังเชื่อว่านอกจากสามีตนแล้ว น่าจะมีผู้ตกเป็นเหยื่ออีกหลายราย ซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบกับครอบครัวเป็นอย่างมาก ต้องกลายเป็นหนี้เป็นสิน
ด้านนายกฤษฎา กล่าวว่า ลักษณะของขบวนการนี้คือมีการตีสนิทเข้ามาชักชวนให้ทำบุญงานกฐิน หนึ่งในขบวนการมีบุคคลที่มีบรรดาศักดิ์เป็นหม่อมหลวง โดยขบวนการมักจะนัดหมายเหยื่อให้มาที่ร้านอาหารของขบวนการ และจะโน้มน้าวชักจูงเหยื่อโดยการอ้างว่ารู้จักกับคนมีชื่อเสียงในสังคม เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ และโอนเงินให้ ครั้งแรกนั้นเหยื่อโอนเงินไปจำนวน 3,000,000 บาท จากนั้นทางขบวนการจะอ้างว่ามีผู้ที่ต้องการตำแหน่งหลายคน เพื่อให้เหยื่อจ่ายเงินเพิ่ม นอกจากนั้นยังพบว่าทางขบวนการยังมีความเชื่อมโยงถึงโควตาลอตเตอรี่อีกด้วย
ขณะที่ นายภาณุมาศ กล่าวว่า ผู้เสียหายรายอื่นๆ มีตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับรองสารวัตร ไปจนถึงรองผู้กำกับ รวมถึงข้าราชการครูถูกหลอกลวงในลักษณะเดียวกัน โดยข้าราชการครูส่วนใหญ่มักถูกหลอกลวงว่าจะได้รับมอบรางวัล รวมถึงได้ลงหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีผู้เสียหายที่ร้องเรียนมายังตนประมาณ 8 ราย รวมมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท
นายไพศาล กล่าวว่า ขบวนการดังกล่าวมีการแบ่งหน้าที่กัน อ้างว่ามีการแจกรางวัลให้กับบุคคลต่างๆ จากนี้จะทำการขยายผลเพิ่มเติม จึงอยากฝากไปนังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ทำการตรวจสอบ ว่ามีขบวนการดังกล่าว รวมถึงมีบุคคลสำคัญต่างๆ ที่มีส่วนรู้เห็นตามคำกล่าวอ้างจริงหรือไม่ โดยในวันนี้จะให้ทางกองบังคับการปราบปรามทำการตรวจสอบ
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องไว้ และทำการสอบปากคำผู้เสียหาย ก่อนเตรียมประมวลเรื่องราวส่งต่อให้กับผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป