กระทรวงดิจิทัลฯ ชวนเด็กไทยรุ่นใหม่ถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมไทย สร้างสรรค์สู่นวัตกรรมใหม่รูปแบบดิจิทัล ผ่านกิจกรรม “Hackulture นวัต…วัฒนธรรม : เรียงร้อยวัฒนธรรมไทย…สู่โลกดิจิทัล” ในหัวข้อ “เห็นแต่ไม่เคยรู้”
ช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา จะพบว่าโลกเราได้เกิดการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างหลากหลาย แทบจะเข้ามาอยู่ในทุกการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ ส่งผลให้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว รวมถึงสังคมโลก ได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กัน ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูล การปรับตัว และผสมผสานต่อยอดจากยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่งได้อย่างลงตัว
สำหรับประเทศไทย ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยี อย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ามามีบทบาทในทุก ๆ ด้าน ทุกบริบทในการเติบโตของสังคม เพื่อให้เทคโนโลยีเกิดประโยชน์กับคนไทยและการเติบโตของเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ แบบองค์รวมอย่างเหมาะสม และนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเชื่อมโลกใหม่อย่างดิจิทัล ให้หลอมรวมกับการอนุรักษ์เพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมความเป็นไทย ให้ก้าวไปด้วยกันอย่างลงตัว
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ หรือ Hackathon เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล ที่มีชื่อว่า “Hackulture นวัต…วัฒนธรรม : เรียงร้อยวัฒนธรรมไทย…สู่โลกดิจิทัล” ในหัวข้อ “เห็นแต่ไม่เคยรู้” โดยเปิดโอกาสให้ นิสิตนักศึกษา อายุระหว่าง 16-24 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า รวมทีมจำนวน 4-6 คน แข่งขันถ่ายทอดเรื่องราวของมรดกวัฒนธรรมไทยทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผ่านรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์รูปแบบใดก็ได้ ชิงถ้วยพระราชทานสเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลรวมกว่าแสนบาท ซึ่งมีผู้ส่งผลงานทั้งหมด 66 ทีม
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า “นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561 - 2580 มีแผนงานที่สำคัญประการหนึ่งในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนและภาคประชาชน ผลิตสื่อดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ผลิตสื่อภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยประชาชนและชุมชน การแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ หรือ Hackathon จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่หันมาสนใจวัฒนธรรมไทยและร่วมกันถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม YOUTHTHINK จากการรวมตัวของ Stamford International University มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงาน MUSIAM ซึ่งเป็นการ รวบรวมงานศิลปวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน ด้วยภาพที่ถูกออกแบบอย่างสวยงามเหมือนไปชมนิทรรศการศิลปะจากสถานที่จริง อีกทั้งยังสามารถซื้อขายหรือประมูลงานศิลปะผ่านแอปพลิเคชัน MUSIAM ได้อีกด้วย
ตัวแทนนักศึกษาจากทีม YOUTHTHINK เผยว่า “สถานที่แสดงงานศิลปะและวัฒนธรรมของไทย ปัจจุบันหาชมได้ยาก และส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้คนต่างจังหวัดเข้าถึงยาก จึงอยากรวบรวมงานนิทรรศการด้านงานศิลปะที่สวยงามให้สามารถเยี่ยมชมได้ทุกที่ผ่านสมาร์ตโฟน หรืออุปกรณ์สื่อสารผ่านแพลตฟอร์มที่คนยุคใหม่นิยม ก็คือ แอปพลิเคชัน เพราะใช้งานง่าย ดูได้ทุกที่ทุกเวลา ตอบโจทย์สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย”
ขณะที่ทีม RAMAYANA จากมหาวิทยาลัยธนบุรี ส่งผลงาน “รามเกียรติ์” คว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เปิดเผยถึงการออกแบบผลงานว่า “ส่วนตัวมีความชื่นชอบวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อทาง สดช. เปิดโอกาสให้สร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมบนแพลตฟอร์มดิจิทัล จึงเลือกทำเป็นเกม 2 D โดยใช้เรื่องราวจากตัวละครเรื่อง รามเกียรติ์ สร้างสรรค์เป็นคาแรคเตอร์ที่ทันสมัยในรูปแบบของเกม เพื่อให้เข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เนื้อหาที่หลายคนมองว่าน่าเบื่อกลายเป็นความน่าสนใจและสนุกสนาน”
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีมง่วงนอน Studio จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ส่งผลงาน Muang Kung Pottery Forward to the new generation นำเสนอเรื่องราวของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง จังหวัดเชียงใหม่ บนแพลตฟอร์ม VIDEO CONTENT นอกจากนั้นยังมีรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล ได้แก่ ทีม Knock Out จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม บริหารธุรกิจ สะพานใหม่ SBAC ผลงาน รำมวยไทย และทีม Tomzaaap จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ผลงาน ไม่มีฉันแล้วเธอจะไม่อร่อย นำเสนอ ARเกี่ยวกับแกงเขียวหวานของแต่ละภาค
ภายในงานดังกล่าว ยังได้รับเกียรติจาก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ที่ให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัลชนะเลิศ รวมถึงนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน กล่าวว่า “เรื่องของประวัติศาสตร์ไม่เคยตาย แต่จะต้องถูกขับเคลื่อนโดยเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ และประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมจะต้องถูกถ่ายทอดอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งกิจกรรมนี้ถือว่าได้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามารวมตัวกันค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยซึ่งมีอยู่มากมาย ร่วมกันแสดงความคิดเห็น และใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสื่อออกมาในรูปแบบดิจิทัลที่น่าสนใจมากๆ หวังว่าเด็กๆหรือคนรุ่นใหม่จะต่อยอดกิจกรรมนี้ต่อไป แม้ว่าการประกวดจะจบแล้วก็ตาม”
ผู้ที่สนใจสามารถชมนิทรรศการผลงานของทั้ง 20 ทีมจากการประกวดกิจกรรม การเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ หรือ Hackathon ที่มีชื่อว่า “Hackulture นวัต…วัฒนธรรม : เรียงร้อยวัฒนธรรมไทย…สู่โลกดิจิทัล” ในหัวข้อ “เห็นแต่ไม่เคยรู้” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้ทาง www.facebook.com/hackulture และ www.hackulture.com ในหัวข้อ “นิทรรศการ”