สรพ.ชี้วิกฤติโควิดเล็งปรับเพิ่มเกณฑ์ประเมินคุณภาพสถานพยาบาล แนะสปสช.ปรับระบบเบิกจ่ายเอื้อต่อการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่
เมื่อวันที่ 9 มี.ค.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 8 – 11 มี.ค. 2565 หัวข้อ “Towards Scaling Up and Resilience in Healthcare” พร้อมจัดการเสวนาย่อยหัวข้อ “A Health Systems Resilience During COVID-19 Pandemic” โดยมี รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมเสวนา ที่ห้องแกรนด์ไดมอน บอลรูม ศูนย์การประชุมเมืองทองธานี
รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพสถานพยาบาล (HA) นั้นจะมีการมองถึงความสามารถในการเผชิญสถานการณ์วิกฤติด้านต่างๆ ร่วมด้วย ซึ่งมีอยู่ 4 ด้าน คือ 1. ความสามารถในการคาดการณ์ เพื่อนำมาสู่การเตรียมพร้อมรับมือ 2.เตรียมความพร้อมทั้งสถานพยาบาล บุคลากร การพัฒนาระบบ การหาองค์ความรู้ 3.การตอบสนองต่อสถานการณ์ การดูแลผลกระทบกับคนไข้ บุคลากร ผู้เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสังคมโดยรอบ และ 4. การฟื้นตัว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่า รพ.มีการเตรียมตัวและตอบสนองที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน HA มีการเตรียมความพร้อมสอดรับทั้ง 4 ด้าน โรงพยาบาลหลายแห่งประสบความสำเร็จเพราะมีการเชื่อมโยงความร่วมมือกับชุมชน และสามารถเป็นที่พึ่งให้คนในชุมชนได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิดทำให้มีการปรับรูปแบบการใช้ชีวิต และการให้บริการสุขภาพแบบนิวนอมอล (New Normal) หลายอย่าง ซึ่งบางเรื่องต้องมีการทบทวน เช่น การปรับระบบไปรองรับผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก ทำให้มีผู้ป่วยโรคอื่นถูกเลื่อนการรักษาและอาการแย่ลงกว่าเดิม ทุกฝ่ายจึงต้องทบทวนตรงนี้ แต่ก็มีระบบการดูแลผู้ป่วยแบบนิวนอมอลอื่นๆ ที่ต้องมีการถอดบทเรียนและพัฒนาให้เป็นบริการต่อเนื่องต่อไปได้ในรูปแบบ Next Normal และจะมีการบรรจุในเกณฑ์การประเมิน HA ต่อไป เช่น 1.ระบบการแพทย์ทางไกล ที่อาจจะประยุกต์ใช้ร่วมกับการดูแลผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน 2.ระบบการดูแลตัวเองที่บ้าน ซึ่งเดิมเป็นแบบโฮมเฮลท์แคร์ (Home health care) ก็ประยุกต์เป็นเสมือนเป็นสถานพยาบาล (Home ward ) หรือรูปแบบการทำเทเลเมดดิซีนและจัดระบบดูแลแบบเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็น Hospital at home เป็นการดูแลผู้ป่วยแบบผสมผสาน (Hybridge care) อย่างไรก็ตาม สปสช.จะต้องปรับระบบการเบิกจ่ายเพื่อส่งเสริมให้การปรับระบบการดูแลผู้ป่วยแบบ Next Normal สามารถเกิดขึ้นได้จริง
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากการติดตามระบบบริการสุขภาพยุคโควิด – 19 พบทั้งบริการที่ดีขึ้น และบริการที่แย่ลง โดยโรคโควิดมีการเบียดบังการรักษาของโรคอื่นๆ จำนวนมาก เช่น คนไข้กล้ามเนื้อหัวใจมารับบริการลดลง แต่มารับบริการซ้ำมากขึ้น สะท้อนว่าได้รับการบริการได้ไม่ดีพอ นอกจากนี้ยังพบมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเช่น โรคไต เสียชีวิตมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าเพราะมีการติดเชื้อโควิดด้วย หรือบางรายมีปัญหาเข้าไม่ถึงระบบบริการ ไม่ได้รับการล้างไต จนต้องส่งรถไปรับที่บ้าน รวมถึงพบกรณีมารดาเสียชีวิต เด็กเกิดใหม่เป็นโรคจากการตั้งครรภ์มากขึ้น ซึ่งต้องมีการสอบสวนโรคต่อไป อีกทั้งยังพบการรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ ในระบบผู้ป่วยในลดลง เพราะต้องแบ่งบริการไปดูแลผู้ติดเชื้อโควิด
ทั้งนี้ ส่วนที่ดีขึ้น เช่น การปรับระบบการดูแลเน้นทำที่บ้าน ปัญหาอุบัติเหตุลดลงจากการห้ามเดินทาง โรคที่มีการป้องกันแบบโควิด เช่น ไข้หวัดใหญ่ และโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ลดลง ทั้งนี้ เชื่อว่าระบบที่เตรียมการสำหรับโควิด มีหลายเรื่องที่สามารถปรับเป็นระบบบริการสำหรับโรคอื่นๆ ได้ในอนาคต เช่น การใช้ชุดตรวจ ATK ประชาชนสามารถตรวจได้เอง อนาคตอาจจะใช้กับโรคอื่นที่มีการพัฒนาชุดทดสอบขึ้นมา เช่น การตรวจมะเร็งปากมดลูก หรือการให้บริการฉีดวัคซีนนอกหน่วยบริการ ระบบการแพทย์ทางไกล ซึ่งโควิดทำให้เห็นว่าสามารถทำได้จริง จากเดิมที่หลายคนยังคิดว่าเป็นไปได้ยาก รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ ที่ไม่ใช่เทคโนโลยีทางการแพทย์แต่สามารถนำมาสนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ เช่น การวิดีโอคอลผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ การส่งยา ส่งอาหารตามบ้าน แม้ยุ่งยากแต่สามารถทำได้
นอกจากนี้ ยังได้เห็นศักยภาพการปรับโรงแรมเป็นโรงพยาบาลได้รวดเร็วนับหมื่นเตียงภายใน 1 วัน จากเดิมที่กังวลว่าอาจจะต้องสร้างโรงพยาบาลเพิ่มเหมือนประเทศจีน นอกจากนี้ยังสร้างการรับรู้ถึงสายด่วน 1330 เพิ่มมากขึ้นกว่า 80% ที่สำคัญคือสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาโดยไม่ต้องคีย์ข้อมูลมาก แต่สามารถตรวจสอบได้ และจ่ายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ หลายบริการที่ปรับเปลี่ยนนั้นช่วยลดค่าใช้จ่ายลงมาก สามารถนำเงินส่วนนี้ไปเพิ่มบริการดูแลโรคอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่การพิจารณาอนาคตระบบสุขภาพ และการเบิกจ่ายของไทยต่อไป อย่างเรื่องการแพทย์ทางไกลนั้น เป็นเรื่องที่จับตาเป็นพิเศษ เพราะมีรูปแบบหลากหลาย ซึ่งเร็วๆ นี้สปสช.จะออกรูปแบบการบริการให้ประชาชนพบแพทย์ทางไกล จากก่อนหน้านี้เริ่มนโยบายยกระดับบัตรทองรักษาที่ไหนก็ได้ไปแล้ว แต่การแพทย์ทางไกลจะมาปิดจุดอ่อนในบางพื้นที่ที่อาจจะเดินทางยากลำบาก เป็นต้น