คณะรัฐมนตรีเห็นชอบปรับเกณฑ์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 โอนผู้ป่วยสีเขียวไปรักษาฟรีตามสิทธิ์ ไม่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติให้สิทธิ์ UCEP Plus กับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง มีผล 16 มี.ค. เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ อาการไม่รุนแรง หรือที่เรียกว่ากลุ่มสีเขียว จะไม่นับเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ แต่สามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ของแต่ละคน อาทิ สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิ์ประกันสังคม หรือสิทธิ์รักษาพยาบาลของข้าราชการ และแนะนำให้การดูแลแบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) หรือ Hotel Isolation
ทั้งนี้ ผู้ป่วยติดโควิด-19 ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเข้าเกณฑ์วิกฤติฉุกเฉิน ตามเกณฑ์ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดแนวทางและเกณฑ์ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินไว้แล้ว คือ กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและ สีแดง ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยไม่กำหนดระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก โดยสิทธิ์การปรับปรุงนี้เรียกว่า UCEP Plus ซึ่งสิทธิ์ดังกล่าวนี้ จะเปิดโอกาสให้มีการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินรุนแรงจากโรงพยาบาลหนึ่งไปเข้ารับการรักษาใน ICU ของอีกโรงพยาบาลได้ภายหลัง 72 ชั่วโมงแรกด้วย ซึ่งดีกว่าโรคอื่นๆ ที่เข้าตามนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ
สำหรับ สาระสำคัญของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ กรณีโรคโควิด-19 มีดังนี้คือ กำหนดให้สถานพยาบาลต้องจัดให้มีการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาล โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดูแลรักษา และให้สถานพยาบาลแจ้งต่อกองทุนของผู้มีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนหรือจากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐทราบโดยเร็ว
รองโฆษกประจำสำนักนายฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้กรณีที่มีปัญหาการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติให้ปรึกษาศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉิน ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการวินิจฉัย โดยคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินให้ถือเป็นที่สุด ซึ่งแนวทางการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และแบบแจ้งผลการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติให้เป็นไปตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม.ยังมีมติให้ กระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เอกชน หรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านการแพทย์ หรือสาธารณสุขดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าว และดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ รวมถึงแก้ไขปรับปรุง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่อนุมัติในครั้งนี้ด้วย