THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

25 กุมภาพันธ์ 2565 : 13:57 น.

“อภิชาติ โตดิลกเวชช์” เผยผลการศึกษาแก้ปัญหาความยากจนไม่สำเร็จเหตุติดกับดักรายได้ ชี้ระบบราชการสั่งงานจากส่วนกลางทั้งที่ปัญหาแต่ละชุมชนแตกต่างกัน 

นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา อภิปรายในการประชุมวุฒิสภา ถึงรายงานฯ เรื่อง ปัจจัยสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจฐานราก โดยระบุว่าในฐานะที่เป็นอดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่เคยทำงานในพื้นที่มี 3 ประเด็นที่ต้องกล่าวถึง คือ ประเด็นแรก สภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่ทำงาน ในพื้นที่ชุมชนมีคนอยู่ 4 กลุ่มที่ทำงาน ส่วนท้องที่คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนท้องถิ่น คือนายก อบต. ส่วนท้องทุ่ง คือ NGO หรือ ภาคประชาสังคม และหน่วยข้าราชการที่อยู่ในพื้นที่คือ หมอ หรือ ครู ซึ่ง 4 คน 4 กลุ่มเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ และยังมีข้างหลังคือผู้บังคับบัญชาหรือเจ้านาย

ทั้งนี้ ถ้าเราไม่ตระหนักในเรื่องนี้จะเห็นว่าชนบทเราส่วนใหญ่ตัดเสื้อโหลคือถูกสั่งมาจากกรมลงไปจังหวัดและลงไปอำเภอ ก็จะเป็นแพตเทิร์นเดียวกันหมด เพราะฉะนั้นจะเกิดปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ทำลายชุมชนโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะชุมชนไม่ได้คิดเอง ส่วนใหญ่ก็จะ Copy กันลงไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียนว่า Supply Chain ในกระบวนการผลิต ได้แก่ หนึ่งการผลิต สองยกระดับคุณค่ามาตรฐานให้ได้มาตรฐาน สามต้องให้มาตรฐานเช่น GI หรือ มผช. หรือ ฯลฯ สี่เชื่อมโยงตลาดให้ได้ และประการสุดท้ายเกิดธุรกิจใหม่ แต่ที่เราทำมาเป็น 10 ปีส่วนใหญ่ทำอยู่ 2 เรื่อง คือกระบวนการผลิต และยกระดับให้ได้มาตรฐาน แต่ต่อไม่ครบห่วงโซ่คุณค่า ชาวบ้านก็วนเวียนในเรื่องการพัฒนาสภาพการทำงานในพื้นที่เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด

นายอภิชาติ กล่าวว่า ประเด็นต่อมา คือ ยังมีกับดักซึ่งเราไม่ค่อยคำนึงถึง แต่เป็นตัวแปรที่สำคัญมาก กับดักในที่นี้มาจากงานวิจัยของ สกว. ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่าง 8 จังหวัด ใช้งบประมาณไป 30 กว่าล้านบาท ทำเรื่อง OTOP ในสมัยเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เนื่องจากต้องการทราบว่า OTOP ในช่วงเวลา 16 ปีที่ผ่านมานั้นรายได้จาก OTOP ไม่เคยทะลุ 1 แสนล้าน แต่หลังจากที่ดำเนินการเพียง 2 ปี (2560-2561) ก็ทะลุมา 1 แสน 9 หมื่นล้าน จึงอยากรู้จริงๆ ว่าชาวบ้านได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ได้ประโยชน์อย่างไร และเท่าไหร่ จึงให้ สกว.ช่วยทำวิจัย ทั้งยังอยากรู้ว่า Margin คือผลกำไรจากกระบวนการผลิตทั้งหมด หนึ่งผู้ผลิต คือ ชาวบ้าน สองคือตรงกลางน้ำมีอยู่ 4 คน 4 กลุ่ม คือคนกลาง นักแปรรูป คนรวบรวมสินค้า และคนขาย และมาถึงผู้ซื้อคือปลายน้ำ ผลงานวิจัย 8 จังหวัดที่ทำออกมาตรงกันก็คือ ผู้ผลิตคือชาวบ้านได้ Margin 2 - 5 % ส่วนอีก 95 % ไปอยู่ตรงกลาง แต่ไม่ได้หมายความคนเหล่านี้ได้กำไรเยอะ เพราะเขาลงทุนเยอะก็ได้กำไรเยอะ แต่ถ้าเรามองไม่เห็นกับดักตรงนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือเราแก้ปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชนไม่ได้ เพราะติดกับดักตัวนี้ Margin ได้แค่ 2-5 % ผมดูผลงานวิจัยผมยังตกใจว่าได้เงิน 2 แสนล้านของ OTOP กลับไปให้ประชาชนจริงๆไม่ถึง 5 % อันนี้เป็นงานวิจัยที่มีผลรองรับในปี 2561

ประเด็นสุดท้าย คือ รูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจฐานราก มีอยู่ 5 มิติใหญ่ ในปี 2540 เราเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตอนนั้นเรากู้เงิน IMF สิ่งที่เกี่ยวข้องคือธนาคารโลกเข้ามาถามว่าประเทศไทยจะแก้วิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร เศรษฐกิจฐานรากคนข้างบนยังเอาตัวรอดได้ แต่สำหรับคนข้างล่างขอทราบแผนแม่บทในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยในปี 2540 ผลออกมามีอยู่ 5 มิติที่เขาเสนอแนะโดย World Bank ทำร่วมกับสภาพัฒน์ เมื่อปี 2540 ขณะนี้ที่นำเรื่องนี้มาเพราะเราก็กำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจย้อนกลับมาอีก

นายอภิชาติ กล่าวว่า ทั้งนี้ 5 เรื่องที่เขาเสนอให้ทำทันทีก็คือ หาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ไปถึงประชาชนกรมชลประทานทำมา 60 ปี ได้น้ำแค่ 22 % พื้นที่เกษตรบ้านเรา 130 ล้านไร่ ขณะนี้มีระบบชลประทานในพื้นที่การเกษตรแค่ 30 ล้านไร่ อีกร้อยกว่าล้านไร่ทำนาฤดูฝน ปัญหาคือชาวบ้านจน เศรษฐกิจฐานรากไปไม่ได้ เพราะรอทำการเกษตร 4 เดือนอีก 8 เดือน ชาวบ้านหลบเข้ามาในเมือง เรื่องที่ 2 ที่เขาแนะนำให้ทำก็คือ เศรษฐกิจเกษตรคุณภาพสูง เราทำนากันมานานตั้งแต่ผมเป็นเด็ก ชาวนาก้มก้มปลูกข้าวปวดหลังปลูกข้าวมา 60 ปี แต่ที่เวียดนามชาวนายืนปลูกข้าว เพราะเขามีนวัตกรรมใช้เหยียบ เรื่องที่ 3 อาชีพนอกไร่นา ต้องไปดูมิติอันนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวการให้บริการ เรื่องที่ 4 คือ หนี้สินและสินเชื่อ กองทุนต่างๆจึงเกิดขึ้นในชนบท เพราะเห็นแล้วว่าถ้าไม่มีกองทุนจะไม่มีปัจจัยที่เพิ่มผลผลิตได้ และเรื่องสุดท้าย คือ การรวมกลุ่มพี่น้องประชาชน มีข้อมูลวิสาหกิจชุมชนที่เราศึกษา 86,611 แห่ง ที่จดทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ ไม่เคยประกอบกิจการ 56,292 แห่งคิดเป็น 65 % และเคยประกอบกิจการ 31,000 กว่าแห่งคิดเป็น 35 % ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือถ้าเขาแข็งแรงช่วยเหลือตัวเองได้คือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลทำมา 16 ปี พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนมีอยู่ 520 แห่ง ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล 16 ปีผ่านไปถ้าอย่างนี้เราก็ไม่เห็นอนาคตว่าวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นตัวยอดพีระมิดที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากไปไม่ได้ เพราะประชาชนรวมกลุ่มกันไม่ได้ ผมขอฝากเป็นประเด็นไว้ที่ที่ประชุมรับทราบดำเนินการต่อไป

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ