สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงนามความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนหนุนเสริมชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้เป็นสถาบันหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุข
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.สุรินทร์ คำฝอย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยมี พระธรรมวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา รองประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศของมหาเถรสมาคม พระเทพวชิรโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระเถรานุเถระ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมในพิธี ณ ที่พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวว่า เป็นนิมิตมงคลที่ดีอย่างสำคัญยิ่งที่หน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ตั้งกุศลและเจตนาในการที่จะสนองงานภารกิจของคณะสงฆ์ ในฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม โดยกระทรวงมหาดไทย ถือว่าเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชนในประเทศ พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้องมาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน และเป็นสักขีพยาน ซึ่งพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ทรงให้ความสำคัญและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาตลอดมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน สร้างความมั่นคงและความวัฒนาสถาพรให้กับประเทศชาติ
ทั้งนี้ ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ได้ขับเคลื่อนงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ด้วยการดำเนินโครงการยุทธศาสตร์ 2 โครงการ คือ โครงการส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่าย และโครงการสาธารณสงเคราะห์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน ตามหลักการดำเนินการ 4 ประการ คือ 1.สงเคราะห์ 2.เกื้อกูล 3.พัฒนา และ 4.บูรณาการ โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเมตตาประทานคติธรรม ในการประชุมสัมมนาขับเคลื่อนงานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ตามแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา จากนโยบายสู่การปฏิบัติงานระดับจังหวัด ความตอนหนึ่งว่า “บุคคลพึงบำเพ็ญกรณียกิจเพื่อเกื้อกูลกันและกัน ด้วยการละคลายความเป็นตัวตนให้มากที่สุด ให้สมดังพุทธศาสนีที่ว่า “ภูตํ เสสํ ทยิตพฺพํ” แปลความว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่ควรเกื้อกูลกัน”
“ในการลงนาม MOU ร่วมกันในวันนี้เป็นการประสานพลังความร่วมมือเพื่อสนับสนุนส่งเสริมบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน โดยใช้หลักแห่งความเมตตาธรรม คือความหวังดี ความปรารถนาดีต่อกัน ในการจะอนุเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกันบรรเทาทุกข์ ทั้งในส่วนของวิชาการและพัฒนา เพื่อก่อให้เกิดทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ อันหมายถึงประโยชน์ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 1) อุฏฐานสัมปทา คือ ความถึงพร้อมในการขยันหา ทั้งในความรู้และการทำหน้าที่ 2) อารักขสัมปทา มีความพร้อมในการรักษาสิ่งต่าง ๆ ที่ได้มาโดยถูกวิธี รู้จักประหยัด รู้จักเก็บ อดออม 3) กัลยาณมิตตตา รู้จักคบคนดีเป็นมิตร 4) สมชีวิตา ประกอบสัมมาอาชีพ เลี้ยงชีวิตให้เหมาะสมกับฐานะ โดยอาศัยหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาเป็นต้นทาง สร้างสังคมชุมชนให้เอื้อต่อการพัฒนา ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดและสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงประกาศเป็นปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร” ตลอดไป เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าว
ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อให้คณะสงฆ์ซึ่งเป็นฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ได้หนุนเสริมความหวังของประเทศชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้เป็นสถาบันหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุข ตลอดจนพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน วัดและพระสงฆ์ได้ดำเนินงานด้านสาธารณะสงเคราะห์ คือ เป็นครู คลัง ช่าง หมอ ด้วยการอบรมสั่งสอน เป็นคลังอาหาร สรรพวิทยาการ โดยพระสงฆ์ที่มีความสามารถทางด้านงานช่าง และวัดเป็นศูนย์กลางของความรู้ทางด้านยาสมุนไพร แพทย์ทางเลือก ดังเช่นที่วัดพระเชตุพนฯแห่งนี้ โดยที่จะนำองค์ความรู้นวัตกรรมของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการหนุนเกื้อนำมาใช้นำแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในหลากหลายมิติ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่เป็นภารกิจหลักของกระทรวงมหาดไทยในการหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยพร้อมที่จะขับเคลื่อนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างยั่งยืน
“กระทรวงมหาดไทยและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้งข้าราชการฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครต่าง ๆ และภาคประชาชนในทุกจังหวัด จะได้ร่วมกันขับเคลื่อน สิ่งที่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ และคณะสงฆ์ ได้ตั้งใจในการที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนอย่างเต็มสติกำลัง ร่วมแรง ร่วมใจ สานพลังร่วมกันระหว่างภาครัฐ วัด และชุมชน เพื่อเกื้อหนุนส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง และสามารถปรับตัวได้ต่อบริบทความเปลี่ยนแปลงท่ามกลางภาวะวิกฤตในปัจจุบัน ด้วยการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักในการทำงาน ซึ่งความเข้มแข็งของชุมชนจากภายในนี้ จะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะขยายผลไปสู่การพัฒนาสังคมไทยและสังคมโลกด้วยความเมตตาของพระเดชพระคุณคณะสงฆ์ต่อไปอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์กล่าว