บึงกาฬ-พัฒนาชุมชนบึงกาฬ ส่ง"ขาบสไตล์"ช่วยปั้นแบรนด์ตลาดชุมชนพญานาค เพื่อยกระดับสินค้าจาก LOCAL สู่เลอค่า
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต บ้านขี้เหล็ก หมู่7 ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ นายคมกริช ชินชนะ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตาม การดำเนินงานโครงการ OTOP Market ตลาดชุมชนพญานาคร่วมสมัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการสร้างงานของคนในพื้นที่มาร่วมพัฒนาชุมชนของตนเอง เสริมสร้างทักษะฝีมือแรงงานในพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อมุ่งเน้นการสร้างภาพลักษณ์ให้ชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบสู่ชุมชนอื่น ในการใช้ศิลปะร่วมสมัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ให้เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ และเพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นสถานที่จับจ่ายผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนที่มีดีไซน์ และปรับปรุงสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล
กิจกรรมครั้งนี้ ทางพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ ได้เชิญ “อ.ขาบ” นายสุทธิพงษ์ สุริยะ ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะอาหาร และการตกแต่งบ้าน พร้อมทีมงาน คุณสมชาย จรรยา กรรมการ สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย(SMEs) นายธนะศักดิ์ พาหุจินดา หรือเชฟแดน และนยวัชรากรณ์ ขันธจีระวัฒน์ จากดีมีสุข มาร่วมให้ความรู้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในจังหวัดบึงกาฬ จำนวน 50 กลุ่ม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย รวมถึงการเล่าเรื่อง ลงไปบนฉลากสินค้าด้วยการให้ความรู้ในการทำ Branding แนวคิดการตลาดและความยั่งยืน เพื่อฝึกให้ผู้ผลิต เป็นนักเล่าเรื่องสินค้าต่อหน้าชุมชน ตลอดจนแนะนำช่องทางการขายต่างๆ และการถ่ายรูปสินค้าให้ดึงดูดและมีเสน่ห์
นายสุทธิพงษ์ สุริยะ เปิดเผยว่า จังหวัดบึงกาฬ นอกจากถ้ำนาคา หินสามวาฬ วัดภูทอกแล้ว พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยว ที่นำศิลปะร่วมสมัยมาออกแบบ มาทำให้บริบทความเป็นวิถีชีวิตอีสาน เป็นงานป๊อบอาร์ต ที่ทำให้ทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัยหลงไหลเข้ามาสัมผัสอย่างมากมาย ความเป็น Local สู่เลอค่า เราสามารถหยิบอะไรก็ได้ เป็นการหยิบความเป็นท้องถิ่น เอาความร่วมสมัยมาออกแบบ จึงเกิดสิ่งใหม่เป็นนวตกรรมการออกแบบ มำให้ชุมชนมีความงาม มีคุณค่า แล้วนำไปสู่การสร้างสรรค์ด้านเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ รัฐบาล กำลังเดินหน้าขับเคลื่อนตามแผน เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว Bio-Circular-Green (BCG )หรือแม้แต่โลกได้ขับเคลื่อนตามแนวทาง Sustainable Development Goals ( SDGs ) ที่สหประชาชาติมุ่งหวัง แก้ปัญหา ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน และสันติสุข
ด้านคุณประภาวริน อรศรี จากเอพีฟาร์ม เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมอบรม ได้รับความรู้หลากหลายที่เราไม่ทราบมาก่อน ทำให้เข้าใจในการผลิตสินค้า จะต้องมีขบวนการ ไม่ว่าจะเป็น การคิดกำไรขาดทุน การสร้างเอกลักษณ์สินค้า เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาสินค้า ให้มียอดขายมากขึ้น