ปทุมธานี-ถือฤกษ์ดี 5 ธันวาผู้ว่าหมูป่านำเกี่ยวข้าวยกระดับข้าวหอมปทุมธานี 1 ตามแนวศาสตร์พระราชา
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ที่บ้านแสนสุขสกัดห้า หมู่ที่ 5 ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย นายสมชาย ตรีณาวงษ์ นายอำเภอหนองเสือ นายพงษ์เทพ รุ่งเรือง พัฒนาการจังหวัดปทุมธานี รศ.ดร.สุจิระ ขอจิตต์เมตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หัวหน้าจิตอาสา 904 จังหวัดปทุมธานี นายสุรพงษ์ เป้ากลาง ประธานหอการค้าจังหวัดปทุมธานี และประธานกรรมการ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีปทุมธานี(วิสาหกิจเพื่อสังคม)จำกัด นายสิทธิพล ภู่สมบุญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีปทุมธานี(วิสาหกิจเพื่อสังคม)จำกัด ประชาชนจิตอาสาอำเภอหนองเสือ ร่วมกิจกรรม หว่านข้าววันแม่ เกี่ยวข้าววันพ่อ “โครงการเรียนรู้วิถีชาวนา พบความสุข ตามแนวทางศาสตร์พระราชา” ปีที่ 5/2564
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ศาสตร์พระราชาของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถือเป็นความโชคดีของเกษตรกร ทำให้มีองค์ความรู้นำไปใช้ต่อสู้กับปัญหา เพื่อหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน สร้างความสมดุลให้กลับมาใหม่ ทั้งผืนดินอันเป็นต้นทุนหลักและวิถีชีวิตที่มีภูมิคุ้มกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงการเดินรอยตามศาสตร์พระราชา เป็นการเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ ทำพอกินพอใช้ เหลือก็นำมาขายสร้างรายได้ เป็นศาสตร์ที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ นอกจากจะทรงด้วยทศพิธราชธรรมแล้ว ทรงยังเป็นพระราชาที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต และการทำงานแก่พสกนิกรของพระองค์และนานาประเทศอีกด้วย ผู้คนต่างประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์และมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ซึ่งแนวคิดหรือหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความน่าสนใจที่สมควรนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตการทำงานเป็นอย่างยิ่ง หากท่านใดต้องการปฏิบัติตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ท่านสามารถนำหลักการทรงงานของพระองค์ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
นายสิทธิพล ภู่สมบุญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีปทุมธานี กล่าวว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีปทุมธานี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ในการสานพลังประชารัฐในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน มีเป้าหมายในการสร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข ด้วยการพัฒนาสามกลุ่มงานคือ กลุ่มเกษตร กลุ่มแปรรูป (SME/OTOP) กลุ่มท่องเที่ยวชุมชน ด้วย 5 กระบวนการ ได้แก่ การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การสร้างองค์ความรู้ การตลาด การสื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืน และการบริหารจัดการ ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงการดำเนินโครงการเรียนรู้วิถีชาวนา พบความสุข ตามแนวทางศาสตร์พระราชา เป็นการพัฒนากลุ่มเกษตร เปิดโอกาสให้ชาวเมืองได้เช่าพื้นที่นาเพื่อเรียนรู้การทำนาจากชาวนา
ทั้งนี้ ชาวเมืองผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำนาทั้งหมด มีชาวนาเป็นผู้ลงมือทำนาและบำรุงรักษาจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว โดยผู้เช่านาจะได้รับ ข้าวสาร (ข้าวหอมปทุม) จำนวน 250 กิโลกรัมต่อไร่ หากมีข้าวสารเหลือชาวนาสามารถขายข้าวให้บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีปทุมธานีฯ ตาม “โครงการขายข้าวสาร” เป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกช่องทางหนึ่งโดยได้ดำเนินการนำร่องปีแรกที่บ้านแสนสุขสกัดห้า หมู่ที่ 5 มีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อ 1. สานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 2. น้อมนำศาสตร์พระราชา และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต3. ให้ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้เชิงปฏิบัติการศาสตร์พระราชา ได้รับประสบการณ์วิถีของชาวนา และมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนต้นแบบให้เป็นศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดศาสตร์พระราชาสู่สาธารณะ 4. เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวหอมปทุมธานี1 ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ยกระดับข้าวหอมปทุมธานี 1 ให้เป็นที่รู้จัก และสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวมากขึ้น 5. สร้างการรับรู้แก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงเชื่อมโยงบูรณาการและการขยายเครือข่ายการขับเคลื่อนงานเกษตรปลอดภัย
จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้นำจิตอาสาจังหวัดปทุมธานี ร่วมปลูกต้นรวงผึ้ง เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างเรียบง่ายและอบอุ่น ได้รับการสนับสนุนจากหอการค้าจังหวัดปทุมธานี และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีปทุมธานีวิสาหกิจเพื่อสังคม ณ แปลงนา บ้านแสนสุขสกัดห้า จ.ปทุมธานี