สดช. จับมือ Google Thailand และ Policy Lab เปิดตัวโครงการเพื่อสังคม “Digital Cultural Heritage” ผลักดันวัฒนธรรมไทยสู่โลกดิจิทัล กระตุ้นให้เยาวชนหวงแหนมรดกไทย
สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำโดย นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับ นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท Google (ประเทศไทย) จำกัด และนายสัญญา เศรษฐพิทยากุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายสาธารณะ โครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ Digital Cultural Heritage หรือโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล โดยมีภารกิจเพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในรูปแบบที่ยั่งยืน ณ เติมสุขสตูดิโอ
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า “มรดกทางวัฒนธรรม เป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าในการแสดงออกถึงรากฐานและความเป็นมาของชาติ ซึ่งปัจจุบันดิจิทัลได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตและทิศทางในทุกภาคส่วน โครงการนี้จึงได้นำเอาศักยภาพของข้อมูลดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงและเผยแพร่ไปได้ในวงกว้าง มาขับเคลื่อนมรดกทางวัฒนธรรมไทย ให้ไปได้ไกลขึ้น เข้าถึงได้ง่ายและมากขึ้น ได้พัฒนาศิลปวัฒนธรรมต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศได้มากขึ้นด้วย”
“ทั้งนี้ สดช. มีความคาดหวังผลใน 3 ด้าน 1.เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และเยาวชนรุ่นใหม่ ในการผลักดันมรดกทางวัฒนธรรมสู่รูปแบบดิจิทัล 2.เพื่อให้เกิดการรักษาและเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมไว้ได้อย่างยั่งยืน และ 3.เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้าน Digital Manpower ให้บุคลากรของไทยมีความสามารถและมีศักยภาพด้านดิจิทัลในระดับนานาชาติ” นายภุชพงค์ โนดไธสง กล่าว
การดำเนินโครงการนี้ เกิดขึ้นจากการร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนดำเนินโครงการ โดยเฉพาะ บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ร่วมเป็นพันธมิตรในการดำเนินโครงการในครั้งนี้ โดยเป็นผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยีสำหรับการจัดกิจกรรม รวมทั้งสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อร่วมถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ในกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดโครงการ
ด้านนายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท Google (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “Google มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นหนึ่งในโครงการนี้ ความตั้งใจของ Google มีอยู่ด้วยกัน 2 ด้านหลักๆ คือ การพัฒนาข้อมูลดิจิทัลเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ และการพัฒนาข้อมูลดิจิทัลเพื่อการค้าและเศรษฐกิจ โดยบทบาทของ Google กับโครงการ Digital Cultural Heritage คือการ แปลงข้อมูลที่มีคุณค่า มีประโยชน์ สู่การเป็นข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และนำไปสู่การต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดียิ่งขึ้น”
“ข้อมูลเชิงศิลปวัฒธรรม มีความสำคัญในการสร้างความเข้าใจใน “ความแตกต่างและความหลากหลาย” ของคนในสังคมที่อยู่ร่วมกัน หากนำข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ดิจิทัล และใช้ Machine Learning ในการเรียนรู้และเชื่อมโยงข้อมูลที่หลากหลายเหล่านี้ ก็จะทำให้เราได้ค้นพบ “ความเหมือน” ในความแตกต่าง เราจะเกิดความเข้าใจและภาคภูมิใจ อีกทั้งยังสามารถนำองค์ความรู้นี้ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย” นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว กล่าว
นายสัญญา เศรษฐพิทยากุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายสาธารณะ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) ได้กล่าวว่า “ขณะนี้ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่องแล้วได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของประเทศ เรามองเป้าหมายเป็นสำคัญว่าเรากำลังจะส่งมอบคุณค่ามรดกไปยังเป้าหมายกลุ่มไหน ซึ่งที่นี่มีมรดกทางวัฒนธรรรมที่มีเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งวัฒนธรรมในอดีตและวัฒนธรรมร่วมสมัย การจัดกิจกรรม Policy Lab มุ่งหวังให้มีต้นแบบของการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในยุคดิจิทัล ที่สามารถสร้างคุณค่าได้จริง มีความคล่องตัว มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและมีความยั่งยืน”
สำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ ได้เชิญชวนนิสิตนักศึกษา อายุระหว่าง 16-24 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า มาแข่งขันถ่ายทอดเรื่องราวของมรดกวัฒนธรรมไทยทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผ่านรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์รูปแบบใดก็ได้ ภายใต้ชื่อโครงการ “Hackulture นวัต…วัฒนธรรม เรียงร้อยวัฒนธรรมไทย…สู่โลกดิจิทัล” ในหัวข้อ “เห็นแต่ไม่เคยรู้” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลรวม 110,000 บาท
ในวันแถลงข่าวดังกล่าว ได้เปิดตัว 20 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบจากทั้งหมด 66 ทีมทั่วประเทศ โดย 20 ทีมสุดท้าย ได้เข้าสู่กิจกรรมค่ายฝึกอบรม (Boot Camp) ร่วมกัน ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคมนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น การบรรยายพิเศษเปิด Hackulture Bootcamp ช่วง Inspiration Talk โดย ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ในหัวข้อ Storytelling & Technology เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย นอกจากนั้นยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการผลิตคอนเทนต์ดิจิทัลจากคุณมิ้นท์ มณฑล กสานติกุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ I Roam Alone หลังจากนี้ทั้ง 20 ทีมที่ผ่านเข้ารอบจะต้องสร้างสรรค์ผลงานจริงร่วมกับที่ปรึกษาประจำกลุ่มเพื่อผลิตผลงานจริงในรอบสุดท้าย และตัดสินพร้อมมอบรางวัลและจัดโชว์นิทรรศการในวันที่ 12 มกราคม 2565 ต่อไป