จังหวัดปทุมธานี น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระพุทธเจ้าหลวง ร.5
เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่บริเวณ ลานหน้า ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานนำข้าราชการ ศาล ทหาร ตำรวจ ประกอบพิธีวางพวงมาลาเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือวันปิยะมหาราช โดยมีนายปรีชา พรหมเพชร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดปทุมธานี นาย จรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกฯ อบจ.ปทุมธานี พร้อมข้าราชการระดับสูงของจังหวัดร่วมพิธี
ทั้งนี้ นายดรณ์ สมิตะเกษตริน ปลัดจังหวัดปทุมธานี นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอเมืองปทุมธานี นางสาวธนิยา นัยพินิจ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปทุมธานี นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี นายเศรษฐรัชต์ เลือดสกุล อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ว่าที่ ร.ต.ขรรค์ไชย ทันธิมา ท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี นางพรอัปสร นิลจินดา ประชาสัมพันธ์จังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า พระราชกรณียกิจที่สำคัญ อาทิ การเลิกทาส ทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบ่งการบริหารเป็นกระทรวงและตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ทำหน้าที่เก็บรายได้ของแผ่นดินทุกแผนกขึ้นเป็นครั้งแรก โปรดให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โปรดให้สร้างถนนและสะพาน สร้างทางรถไฟ
ทรงริเริ่มกิจการไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ กิจการไฟฟ้า การประปา การสุขาภิบาล เสด็จประพาสต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศหลายครั้ง การปกป้องประเทศจากการสงครามและเสียดินแดน เป็นต้น ทางราชการจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่สำคัญของชาติ เรียกว่า "วันปิยมหาราช" พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2396 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และสมเด็จพระเทพศิรินทราพระบรมราชินี
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระองค์ทรงสืบราชสันตติวงศ์แห่งพระบรมจักรีวงศ์ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 1ตุลาคม 2411 และได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่นับว่าสำคัญของจังหวัดปทุมธานี ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์คือ ทรงมีพระราชดำริให้มีการขุดคลองรังสติประยูรศักดิ์ โดยพระองค์ทรงส่งเสริมให้หน่วยราชการและเอกชนขุดคลองขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งขุดคลองใหม่และขุดลอกคลองเก่าด้วยทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่าทางน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดข้างเคียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ และเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ
นอกจากนั้น ทรงตระหนักด้วยว่าน้ำเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการขยายพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉพาะข้าว ดังพระราชดำริที่กล่าวไว้ในประกาศเรื่องอนุญาตขุดคลอง ว่ามีความต้องการที่จะใช้คลองช่วยกระจายผู้คนออกไปจากย่านชุมชนเดิม "การขุดคลอง เพื่อที่จะให้เป็นที่มหาชนทั้งปวงได้ไปมาอาศัย แลเป็นทางที่จะให้สินค้าได้บรรทุกไปมาโดยสะดวก ซึ่งให้ผลแก่การเรือกสวนไร่นา ซึ่งจะได้เกิดทวีขึ้นในพระราชอาณาจักร เป็นการอุดหนุนการเพาะปลูกในบ้านเมืองให้วัฒนาเจริญยิ่งขึ้นการขุดคลองในรัชสมัยของพระองค์ สร้างความผาสุกให้กับราษฎรในด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ รัชกาลที่ 5 ทรงทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ วางรากฐานให้พสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุข ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองใหม่เพิ่มขึ้น มีชื่อว่า “เมืองธัญบุรี” ในปี พ.ศ. 2445 คำว่า "ธัญญบุรี" คือ "เมืองข้าว" เมืองธัญญบุรี แต่เดิมมามีเขตการปกครอง 4 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง และอำเภอหนองเสือ เมืองธัญญบุรีดำรงสภาพอยู่นานถึง 31 ปี จากนั้นทางรัฐบาลได้ยุบเมืองธัญญบุรี ไปขึ้นกับจังหวัดปทุมธานี เมื่อ พ.ศ.2475 มีฐานะเป็นอำเภอชั้นเอกขึ้นกับจังหวัดปทุมธานีจังหวัดปทุมธานีก็มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ เป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ มีศิลปวัฒนธรรม และเอกลักษณ์อื่น ๆ เป็นของตัวเองมาถึงปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ชมรมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปทุมธานี นำโดย นายพงศธร สัจจชลพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้นำพวงมาลาร่วมถวายสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ