นครราชสีมา-โคราชแก้ไขปัญหาอ่างลำเชียงไกรตอนล่างเสร็จแล้วตามกำหนดเส้นตาย"บิ๊กป้อม"5 ต ค.ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย พบความเสียหายใน 19 อำเภอพื้นที่การเกษตรจมกว่า 2.8 แสนไร่
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ประตูระบายน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา วิศวกรและคนงานพร้อมรถแบ็คโฮ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ เร่งดำเนินการซ่อมแซมผนังกั้นน้ำของอ่างเก็บน้ำที่มีการเปิดทางระบายน้ำในช่วงที่ปริมาณน้ำในอ่างเกินความจุ โดยได้ทำการปิดช่องทางระบายน้ำดังกล่าวหลังจากสถานการณ์น้ำในอ่างกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เหลือแต่เพียงการระบายน้ำทางช่องทางประตูระบายน้ำหลักเท่านั้น
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 19 อำเภอ 80 ตำบล 344 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 15,250 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 5 ราย จังหวัดได้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว ส่วนพื้นที่ทางการเกษตรพื้นที่นาข้าวเสียหาย 131,674 ไร่ มันลำปะหลัง 124,588 ไร่ ข้าวโพด 29,988 ไร่ อ้อน 740 ไร่ พืชผักอื่นๆ245 ไร่ และพืชสวน 589 ไร่ รวมมีพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 287,824 ไร่ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ยังคงเหลือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ รวม 9 อำเภอ 37 ตำบล 174 หมู่บ้าน 5 ชุมชน
สำหรับ สถานการณ์มวลน้ำของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ขณะนี้มวลน้ำได้ไปอยู่ที่ อ.พิมาย ที่ ต.ชีวาน ต.กระชอน ต.ท่าหลวง ต.ดงใหญ่ และจะเข้าสู่ อ.โนนแดง และ อ.ชุมพวง ได้มีการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนและได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือแล้ว ส่วนในพื้นที่ อ.โนนไทย ยังคงมีบางพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำขังอยู่ แต่ภาพรวมน้ำเริ่มลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ยังไม่สิ้นสุดฤดูฝนฉะนั้นพี่น้องประชาชนจะต้องติดตามสภาพดินฟ้าอากาศให้ดี หากมีพายุเข้ามาจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก ดังนั้นจึงควรรับฟังการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มดีขึ้นในทุกอำเภอ มวลน้ำที่ไหลเข้าสู่พื้นที่อำเภอตอนล่าง จะมีปริมาณน้ำที่ท่วมน้อยกว่าอำเภอต้นน้ำ น้อยกว่า อ.โนนสูง อ.โนนไทย คาด 3-4 วันหาก ไม่มีฝนตกลงมา อ.โนนสูง อ.โนนไทย จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ทั้งนี้ การดำเนินการก่อสร้างซ่อมแซมประตูระบายน้ำอ่างลำเชียงไกรตอนล่างนั้น ทางชลประทานได้มีการดำเนินการนำเครื่องจักรขนาดใหญ่แบ็คโฮ เข้าไปแก้ไขส่วนผนังกั้นน้ำที่มีการเปิดช่องระบายน้ำ เพื่อปิดทางน้ำที่มีการปล่อยระบายน้ำออกมาแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสภาพอากาศต่อไป ซึ่งได้มีการรายงานความคืบหน้าในการซ่อมแซมปรับปรุงให้ พล.อประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว ว่าทางจังหวัดนครราชสีมาได้ดำเนินการซ่อมแซมเสร็จตามกำหนดที่รองนายกฯได้สั่งการไว้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ศูนย์บัญชาการสถานการณ์จังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง) มีความจุที่ระดับเก็บกัก 27.70 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำ 5.875 ล้าน ลบ.ม. หรือ 21.21% ปริมาณน้ำไหลเข้าเมื่อวาน 4.256 ล้าน ลบ.ม. สะสม 214.16 ล้าน ลบ.ม. หรือ 254.96% ของค่าเฉลี่ยรายปี แนวโน้มยังมีน้ำไหลเข้าอ่างฯต่อเนื่อง ปริมาณน้ำไหลออก เมื่อวานนี้ 4.50 ล้าน ลบ.ม. สะสม 211 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มเริ่มลดลง รวมปริมาณน้ำไหลออกสะสมจากอุทกภัยพายุเตี้ยนหมู่ (26 ก.ย.64 - 3 ต.ค.64) เท่ากับ 141.96 ล้าน ลบ.ม. หรือ 5.12 เท่าของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำไหลออกท้ายอ่างฯ รวมกับวังกะทะ และบึงพุดซา บริเวณ ต.โคกสูง อ.เมือง มีแนวโน้มลดลง แต่ผลรวมยังมากกว่าความสามารถของลำน้ำที่จะระบายได้ (60-90 ลบ.ม./วินาที) หากไม่มีผลตกเพิ่มขึ้นแนวโน้มจะลดลง