นครราชสีมา-อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างแตกแล้วถูกน้ำกัดเซาะกำแพงปีกด้านขวาชำรุดทำให้มวลน้ำไหลทะลักออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ว่าฯออกหนังด่วนเตือน 9 อำเภอรับมือ
เมื่อวันที่ 26 กันยายน นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา ได้รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างขนาดกลางและขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาที่มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากอิทธิพลพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ว่า อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน อ.ด่านขุนทด มีปริมาณน้ำในอ่าง 9.029 ล้าน ลบ.ม. หรือ 141.95 % ที่ระดับเก็บกัก 8.40 ล้าน ลบ.ม. โดยเมื่อวานนี้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 12.79 ล้าน ลบ.ม. มีแนวโน้มทรงตัวแล้วลดลง อ่างเก็บน้ำห้วยปราสาทใหญ่ อ.ด่านขุนทด มีปริมาณน้ำในอ่าง 9.029 ล้าน ลบ.ม. หรือ 103.78 % ที่ระดับเก็บกัก 8.70 ล้าน ลบ.ม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและล้นทางระบายน้ำฉุกเฉิน
ขณะที่ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง อ.โนนไทย มีปริมาณน้ำในอ่าง 41.96 ล้าน ลบ.ม. หรือ 151.49 % ที่ระดับเก็บกัก 27.70 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว อ่างเก็บน้ำหนองกก อ.พระทองคำ มีปริมาณน้ำในอ่าง 2.97 ล้าน ลบ.ม. หรือ 117.96 % ที่ระดับเก็บกัก 2.50 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มทรงตัวแล้วลดลง และปริมาณน้ำในลุ่มน้ำที่เกิดจากปริมาณน้ำฝน 50 -150 มม. ที่ตกในลุ่มน้ำจากอิทธิพลพายุโซนร้อน”เตี้ยนหมู่” มีปริมาณน้ำท่า ไม่น้อยกว่า 50 ล้าน ลบ.ม. รวมกับลำน้ำสาขาต่างๆ และปริมาณน้ำในพื้นที่ที่ค้างอยู่ โดยที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กมีปริมาณน้ำเกินความจุทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้ทางโครงการชลประทานนครราชสีมาพร้อมยังแจ้งเตือนปราชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท้ายอ่างลำเชียงไกรตอนล่างให้เตรียมขนของมีค่าขึ้นสู่ที่สูงและเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน
ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นวันเดียวกัน อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง มวลน้ำเหนือสันอ่างเต็มพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ ปริมาณน้ำกว่า 40 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 135 % เกินความจุกักเก็บ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณน้ำมากที่สุดในรอบ 50 ปี นับตั้งแต่ก่อสร้างอ่างเมื่อปี 2514 มวลน้ำฝนสะสมจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ไหลมาจากพื้นที่ตอนบน อ.ด่านขุนทด และ อ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา สมทบมาขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้อาคารระบายน้ำล้นปกติ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างได้ถูกกระแสน้ำกัดเซาะกำแพงปีกด้านขวาจนชำรุดทำให้มวลน้ำไหลทะลักออกมาอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ชลประทานได้เตรียม บิ๊กแบ็ค หรือกระสอบทรายยักษ์ลงไปอุดรูรั่ว โดยรอให้กระแสน้ำไหลเบาลงกว่านี้
อย่างไรก็ตาม นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกด่วนที่สุด กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ที่ นม (กปภจ)0021/ 6177 ถึงนายอำเภอด่านขุนทด นายอำเภอโนนไทย นายอำเภอพระทองคำ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา นายอำเภอโนนสูง นายอำเภอพิมาย นายอำเภอชุมพวง นายอำเภอลำทะเมนชัย และนายอำเภอเมืองยาง และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ว่า เนื่องจากปริมาณน้ำจากลำเชียงไกร ตอนบน และลำน้ำสาขา มีปริมาณเป็นจำนวนมากและได้ระบายลงอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง จึงมีความจำเป็นต้องระบายเพิ่มลงลำน้ำเดิม 66.43 ลบ.ม. ระบายน้ำอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน101.72 ลบ.ม. รวมการระบายน้ำ 168.15 ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำในลำเชียงไกร และลำน้ำสาขามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งลำน้ำ และพื้นที่ริมตลิ่ง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแล้วขอให้ดำเนินการ ดังนี้
1.ให้อำเภอด้านท้ายอ่าง รวม 9 อำเภอ แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูง เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการควบคุมสถานการณ์ ให้อพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย ในระดับสีส้มโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ริมน้ำและที่ลุ่มต่ำให้เก็บทรัพย์สินสิ่งของจำเป็นขึ้นไว้ที่สูงกว่าที่เคย ระวังติดตามมวลน้ำไหลเชี่ยวแรง ดูแลเด็กเล็กและคนชรา ผู้ป่วยติดเตียง
2.ประสานท้องถิ่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดสำคัญทางเศรษฐกิจ จัดหาและสนับสนุนกระสอบทราย ให้กับประชาชนเพื่อปิดกั้นน้ำเข้าบ้านเรือนและพื้นที่สำคัญ จัดรถกระจายข่าวแจ้งเตือนประชาชนให้ทั่วถึง และจัดกำลังเจ้าหน้าที่ ประสานกำลังพลสนับสนุนการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงที่เตรียมไว้ล่วงหน้า จัดตั้งโรงครัว หรือครัวพระราชทานเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบและเจ้าหน้าที่
3.ให้ความสำคัญในการแจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างใกล้ชิด
4. กรณีการอพยพประชาชน ขอให้ไม่ต้องห่วงทรัพย์สิน ควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิต และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
5. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง จะมีการจัดชุดลาดตระเวนตรวจตรา ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันผู้ฉกฉวยโอกาสขโมยทรัพย์สิน