THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

25 กรกฎาคม 2564 : 17:13 น.

นครศรีธรรมราช-ชาวสวนมังคุดพรหมคีรีเข้าชื่อร้องผู้ว่าฯให้เร่งแก้ไขปัญหาถูกกดราคาจนตกต่ำสุดขีดจากกิโลกรัมละ 55 บาทเหลือเพียงกิโลกรัมละ 15 บาท

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่หน้าที่ว่าการอำเภอพรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช นายรังสิต เฉลิมวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลพรหมโลก อ.พรหมคีรี ในฐานะตัวแทนชาวสวนมังคุดพร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนมากได้แต่งชุดดำเข้าลงชื่อแนบท้ายหนังสือ แจ้งความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนมังคุด ยื่นต่อนายเกรียงศักดิ์ รักษ์ศรีทอง นายอำเภอพรหมคีรีให้แก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ โดยเกษตรกรมีการรักษาระยะห่างและหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นเพื่อการควบคุมโรค

นายรังสิต กล่าวว่า เกษตรกรชาวสวนมังคุดกำลังเดือดร้อนจากผลผลิตออกมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิ.ย.ออกสู่ตลาดล้วนแต่เป็นมังคุดที่มีคุณภาพสูง มีการรับซื้อถึง 50-55 บาทต่อกิโลกรัม แต่หลังจากนั้นราคามังคุดลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 15 บาท บางพื้นที่ราคาดิ่งลงเหลือ 5 บาทเท่านั้น ทำให้เกษตรกรรับไม่ได้จากภาระต้นทุนตั้งแต่การผลิตจนถึงการเก็บเกี่ยว เพราะต้นทุนราคาค่าเก็บก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 8-10 บาทแล้ว

ทั้งนี้ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยพาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับเรื่องด้วยตัวเอง และได้เชิญเกษตรกรเข้าร่วมหารือถึงปัญหาของราคามังคุด แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยในวันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ของพื้นที่อำเภอพรหมคีรี พร้อมใจกันหยุดเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อรอดูทิศทาง

ขณะที่ เกษตรกรให้ข้อมูลว่า ขณะนี้เกิดปัญหาการบรรจุส่งออกอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด ล้งรับซื้อทำได้เพียงคัดแยกขนาดของมังคุดและส่งต่อไปยังจังหวัดจันทบุรีเพื่อบรรจุหีบห่อแล้วส่งไปยังประเทศจีน มีความเสียหายจากความล่าช้าทำให้มีต้นทุนที่สูงอีกเกือบ 1 เท่าตัว ประกอบกับการรับซื้อมังคุดเข้ามามากทำให้การไหลของมังคุดเข้าระบบกลายเป็นคอขวดราคาจึงตกต่ำอย่างมาก

ด้านนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ได้ข้อสรุป 5 ประเด็น การหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ หรือล้งในแต่ละพื้นที่เพื่อให้มีการแสดงราคารับซื้อในแต่ละวันอย่างชัดเจน , ให้ผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ หรือล้ง มีการแจ้งเปิด-ปิดการรับซื้อล่วงหน้าเพื่อสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ขณะที่ส่วนราชการเองจะเข้ามาช่วยเหลือปัญหาของผู้ประกอบการทั้งเรื่องมาตรการ และแรงงานภาคเกษตร ซึ่งหากจำเป็นจะมีการขอสนับสนุนกำลังทหารและแรงงานจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น

สำหรับ ปัญหาที่ผู้ประกอบการติดขัดเรื่องระบบโลจิสติกส์และตู้คอนเทนเนอร์ ทางจังหวัดจะได้ประสานหารือไปยังผู้รับผิดชอบต่อไป รวมทั้งประเด็นการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ ทางจังหวัดจะจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายเพื่อให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ทั้งในรูปแบบของการขายออนไลน์ การจัดประมูลออนไลน์ การสนับสนุนเรื่องการบรรจุภัณฑ์เพื่อให้เกษตรกรจัดส่งทางไปรษณีย์ รวมทั้งการส่งเสริมการขายอื่นที่สามารถดำเนินการได้ในมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคระบาดด้วย 

ขณะที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่าในฤดูการผลิต 2564 จะมีมังคุดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชออกสู่ตลาด โดยแบ่งออกเป็น 3 เกรด คือ มังคุดเกรดส่งออกประมาณ 30,000 ตัน มังคุดเกรดคละประมาณ 17,000 ตัน และมังคุดตกเกรดประมาณ 9,000 ตัน

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ